20 พฤศจิกายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ เมื่อบัญชี X ของเว็บไซต์ข่าว DailyLoud เผยแพร่ภาพดอกไม้บานที่บริเวณขั้วโลกใต้ พร้อมข้อความระบุว่า “ดอกไม้เริ่มบานในดินแดนแอนตาร์กติกา ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าสิ่งนี้คือสัญญาณของหายนะ” และ “เป็นหลักฐานแรกที่ยืนยันว่าทวีปแอนตาร์กติกามีการตอบสนองทางระบบนิเวศในอัตราเร่ง ซึ่งมีผลโดยตรงจากสภาวะโลกร้อน”
บทสรุป :
- เป็นการนำภาพดอกไม้จากขั้วโลกเหนือ มาประกอบรายงานข่าวเกี่ยวกับขั้วโลกใต้
- ผู้วิจัยพบว่า สภาวะโลกร้อนส่งผลให้พันธุ์พืชในขั้วโลกใต้ขยายพันธุ์มากขึ้นในปัจจุบัน
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
แม้ข้อมูลที่กล่าวอ้างจะมีความถูกต้อง แต่โพสต์ที่มียอดวิวทาง X กว่า 2.2 ล้านครั้งได้รับการยืนยันจาก Fact Checker ในต่างประเทศว่า มีการใช้ภาพประกอบไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ใช้ภาพดอกไม้ขั้วโลกเหนือในรายงานข่าวขั้วโลกใต้
ภาพดอกไม้สีม่วงที่ใช้ประกอบข่าว ได้รับการยืนยันว่าเป็นผลงานของช่างภาพที่มีชื่อว่า เซอร์เกย์ อูร์ยาดนิคอฟ ซึ่งคำบรรยายภาพต้นฉบับระบุว่า “ภูเขาน้ำแข็งลอยอยู่เหนือชายฝั่งดินแดนกรีนแลนด์ ดอกไม้ริมฝั่งทะเล ธรรมชาติและภูมิทัศน์ของกรีนแลนด์”
กรีนแลนด์ คือดินแดนปกครองตนเองของประเทศเดนมาร์ก และเป็นส่วนหนึ่งของขั้วโลกเหนือ
ข้อมูลของ iNaturalist ระบุว่า ดอกไม้สีม่วงที่อยู่ในภาพคือ Moss Campion เป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้ในแถบที่ราบบริเวณขั้วโลกเหนือ
ส่วนบริเวณขั้วโลกใต้หรือทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งมีอากาศที่หนาวเย็นยิ่งกว่าขั้วโลกเหนือ พบว่ามีพืชท้องถิ่นเพียง 2 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ Antarctic Pearlwort และ Antarctic Hair Grass ซึ่งถือเป็นพันธุ์ดอกไม้ที่อยู่ใต้สุดของขั้วโลก
ดอกไม้แพร่พันธุ์มากขึ้นที่ขั้วโลกใต้
แม้ภาพประกอบจะผิดจากความเป็นจริง แต่ข้ออ้างเรื่องผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนต่อการแพร่พันธุ์ดอกไม้บริเวณขั้วโลกใต้เป็นเรื่องจริง
ข้อมูลดังกล่าวนำมาจากงานวิจัยปี 2022 เรื่อง “การเร่งของสภาวะโลกร้อนและพลวัตของพันธุ์พืชในทวีปแอนตาร์กติกา” โดย นิโคเล็ตตา คันโนเน ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยอินซูเบรีย ประเทศอิตาลี
นิโคเล็ตตา คันโนเน ได้สำรวจพันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่เกาะซิกนี เกาะทางตอนเหนือของทวีปแอนตาร์กติกา พบว่าพันธุ์ไม้ทั้งสองชนิดมีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งทีมวิจัยสรุปว่าเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อนในช่วงปี 2009-2018 นั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.snopes.com/fact-check/flowers-blooming-antarctica/
https://www.usatoday.com/story/news/factcheck/2023/10/07/false-claim-photo-shows-flowers-blooming-in-antarctica-fact-check/71067338007/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter