บช.ก. 15 พ.ย. – “พล.ต.ท.จิรภพ” ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงปราบเครือข่ายแอปฯ เงินกู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยโหด จับ 2 ตัวการใหญ่ พร้อมผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า 11 ราย พบเส้นทางการเงินมีหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงผลการจับกุมของหน่วยงานตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางหลังเปิดปฏิบัติการ นำกำลังกว่า 80 นาย เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 23 จุด ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี ปทุมธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี อยุธยา สมุทรปราการ ชุมพร และตรัง สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งสิ้น 13 ราย ได้แก่ ระดับผู้รับผลประโยชน์ จำนวน 2 ราย คือ นางสาวยุวธิดา อายุ 37 ปี และนายวีรยุทธ อายุ 37 ปี พร้อมผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า จำนวน 11 ราย ในความผิดฐาน ร่วมกันโดยทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดวามเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือกำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้ หรือเรื่องอื่นๆ เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด, ร่วมกันทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่ใช้ความรุนแรงหรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้และผู้อื่น และความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
การตรวจค้นร้านคาราโอเกะย่านอาร์ซีเอ และบ้านของหุ้นส่วนผู้ดูแลร้าน ที่มีข้อมูลว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ผลการตรวจค้นสามารถยึดของกลางทั้งสิ้น 52 รายการ อาทิ สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 32 รายการ, โทรศัพท์มือถือ จำนวน 11 เครื่อง, โน้ตบุ๊ก, แท็ปเล็ต, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ จำนวน 3 รายการ และเอกสารอื่นๆ จำนวน 6 รายการ
พฤติการณ์ของคดีนี้ คือเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2565 ผู้เสียหายได้ทำการกู้เงิน ผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยแอปฯ เหล่านี้มีการประกาศเชิญชวนให้กู้ยืมเงิน อ้างว่าดอกเบี้ยต่ำ ได้เงินไว ภายหลังเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงได้ดาวน์โหลดแอปฯ มาติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ โดยในการลงทะเบียนเปิดใช้งานแอปฯ ดังกล่าว มีการขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็น รายชื่อเบอร์โทรศัพท์, รูปภาพ, กล้อง, ตำแหน่งที่ตั้ง (GPS) และไมโครโฟน ซึ่งหากผู้เสียหายไม่ยินยอม ก็จะไม่สามารถเปิดใช้งานแอปฯ ดังกล่าวได้ ผู้เสียหายจึงอนุญาตให้แอปฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย
หลังจากนั้นผู้เสียหายจึงได้ทำการกรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ตามที่แอปกำหนด โดยกรอกข้อมูลชื่อสกุล, ที่อยู่, ที่มารายได้, ชื่อผู้ติดต่อ, เลขที่บัญชีเงินฝาก, ภาพบัตรประชาชนคู่กับใบหน้า รวมถึงเบอร์โทรศัพท์เพื่อรอรับรหัสยืนยัน (OTP) ภายหลังเมื่อผู้เสียหายลงทะเบียนเปิดใช้งานแอปฯ เสร็จสิ้นแล้ว ผู้เสียหายจึงได้ดำเนินการขอกู้ยืมเงิน โดยทำการกู้ยืมเงินรวมจำนวน 11 ครั้ง รวมเงินที่กู้เป็นจำนวนกว่า 50,000 บาท
ในทุกครั้งที่กู้ยืมเงิน ผู้เสียหายจะได้รับเงินเพียงร้อยละ 55 ของยอดเงินที่กู้ และจะต้องคืนเงินเต็มจำนวนของยอดกู้ภายในระยะเวลา 6 วัน ซึ่งหากคำนวนเป็นอัตราดอกเบี้ยแล้ว คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อวันหรือ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 225 ต่อเดือน หรืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2,737.5 ต่อปี นอกจากนี้ยังมีบางครั้งที่ผู้เสียหายพบว่า มียอดเงินที่ตนเองไม่กู้ ถูกโอนเข้ามาในบัญชีของผู้เสียหาย พร้อมกับมีข้อความแจ้งให้ทราบว่าต้องชำระยอดเงินกู้นี้เพิ่มด้วย ต่อมาเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถชำระเงินกู้ที่กู้ยืมไว้ได้ จะมีบุคคลโทรศัพท์ติดต่อไปยังพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อติดตามทวงหนี้ อีกทั้งยังมีการส่งข้อความทาง SMS แนบรูปภาพตัดต่อใบหน้าของผู้เสียหายไปให้เพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ชิด ทำให้เข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นผู้จำหน่ายสิ่งเสพติด หรือค้าประเวณี ภายหลังผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีกับคนร้ายในคดีนี้
ต่อมา ตำรวจ กก.3 บก.ปอท. ทำการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด พบว่าระบบของแอป เหล่านี้ จะมีการโฆษณาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยมีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีการกำหนดการผ่อนชำระเงินกู้ในลักษณะที่เป็นการบิดเบือนและอำพราง และมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่หลอกลวงผู้เสียหายนั้น พบว่ามีบัญชีธนาคารที่ถูกใช้ในการโอนเงินกู้ให้ผู้เสียหายจำนวน 6 บัญชี และมีบัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนเงินคืนจากผู้เสียหาย จำนวน 6 บัญชี ซึ่งเงินในบัญชีเหล่านี้จะถูกโอนต่อไปยังบัญชีอื่นๆ อีกกว่า 100 บัญชี หลังจากนั้นจะมีการถ่ายโอนเงินไปให้กับผู้รับผลประโยชน์รายใหญ่ จำนวน 2 ราย โดยเงินจะถูกหมุนเวียนในบัญชีธนาคารต่างๆ ภายใต้ชื่อเดียวกันกว่า 30 บัญชี และจะมีการโอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ ของธนาคารในประเทศไทยกว่า 50 บัญชี โดยใช้ชื่อบัญชีเป็นชาวรัสเซีย, เมียนมา, จีน และไทย ตรวจสอบพบมียอดเงินหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท
จากข้อมูลการสืบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 16 ราย และสามารถดำเนินการจับกุมในครั้งนี้ได้ 13 ราย จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ฝากเตือนถึงพี่น้องประชาชนหากต้องการกู้ยืมเงินควรเลือกกู้กับทางสถาบันทางการเงินหรือผู้ให้บริการด้านสินเชื่อที่ถูกต้องตามกฏหมาย เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่ออย่างในกรณีผู้เสียหายกลุ่มนี้ ส่วนผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชี หรือ ยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชี มีโทษทางกฎหมาย หากบัญชีถูกนำไปใช้ในทางทุจริต เพราะอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งอัตราโทษสำหรับความผิดฐานฟอกเงินนั้น มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 10,000 -200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ. -สำนักข่าวไทย