กรุงเทพฯ 3 พ.ย. – ธพ.ตามติดผลกระทบสงครามฉนวนกาซา หากบานปลายน้ำมันดิบอาจแตะ 130 เหรียญ/บาร์เรล เตรียมแผนรับมือ ส่วนการลดราคาแก๊สโซออล์ 2.50 บาทต่อลิตร 3 เดือน ไม่กระทบแผนน้ำมันฯ อนาคตที่ยังตั้งเป้ายกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ส่งเสริม E 20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่าได้ติดตามปัญหาสงครามในอิสราเอล –กลุ่มฮามาสอย่างใกล้ชิด และได้หารือกับผู้ค้าน้ำมันเพื่อประเมินสถานการณ์ หากสถานการณ์ไม่ขยายวงกว้างราคาน้ำมันในตลาดโลกเฉลี่ยจะอยู่ที่ 90-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่หากสถานการณ์รุนแรงขยายวงเป็นปัญหาขัดแย้งในตะวันออกกลาง ก็คาดว่าราคาน้ำมันตลาดโลกจะทะลุ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯและผู้ประกอบการได้วางแผนร่วมกัน การนำเข้าพลังงานของไทย จะไม่ขาดแคลน โดยเฉพาะน้ำมันดิบจากการหารือผู้ค้าล่าสุดยังคงอยู่ในภาวะปกติ
ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan 2023 ยังคงเป็นไม่มีการปรับเปลี่ยนจากแผนงานเดิม ซึ่งการลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ในอัตรา 2.50 บาท/ลิตร รวมทั้งลดภาษีทั้งกลุ่มเบนซินเป็นระยะเวลาเพียง 3 เดือน เพื่อร่วมลดค่าครองชีพ คงไม่มีผลอะไร ต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำมันมากนัก และจะตามประเมินว่าหลังลดราคากลุ่มผู้ใช้น้ำมันจะเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล์ 91 หรือไม่ โดยระยะยาว ตามแผนน้ำมัน จะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 และอาจกำหนดให้ E 20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับปริมาณเอทานอลและที่สุดต้องรอผลการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนที่จะสรุปขั้นสุดท้ายและจะต้องรอนโยบายจากรัฐบาลเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ธพ.ได้คาดการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภาพรวมในปี 2566 จะมีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 153.08 ล้านลิตร/วันเพิ่มขึ้น จากปี 2565 ประมาณ 1% โดยการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ที่จะเพิ่มขึ้นราว 53.6% จากปีก่อนเนื่องจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นในปลายปีนี้ ประกอบกับรัฐบาลได้ใช้นโยบายฟรีวีซ่าที่จะสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งคาดว่าไตรมาส 4 นี้การใช้จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ประมาณ 3.10%
สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย.66 อยู่ที่ 153.34 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น4.3% โดยเป็นการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 4.3% อยู่ที่ 31.70 ล้านลิตร/วัน น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์อยู่ที่ 13.44 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 66.5% การใช้ LPG อยู่ที่ 33.61 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 0.5% ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV ) อยู่ที่ 3.40 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 0.2% กลุ่มดีเซลอยู่ที่ 69.16 ล้านลิตร/วัน ลดลง 4.5% จากฐานการผลิตปีก่อนที่สูงผิดปกติ (มีการใช้ดีเซลเพื่อผลิตไฟฟ้า) ประกอบกับเศรษฐกิจชะลอตัวบางส่วน น้ำมันเตาอยู่ที่ 5.62 ล้านลิตร/วัน ลดลง 11.4% จากผลกระทบภาคการผลิตที่ลดลงจากการส่งออกที่ชะลอ. -สำนักข่าวไทย