กรุงเทพ 2 พ.ย. – มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย หรือ “iTIC” จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้าน Connectivity and Smart Mobility ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบขนส่งการจราจรอัจฉริยะและลดอุบัติเหตุในประเทศแบบ real-time เนื่องจากประเทศไทยมีอุบัติเหตุเป็นอันดับ 9 ของโลก มีผู้เสียชีวิต 17,379 คนต่อปี หรือกว่า 48 คนต่อวัน มีฝุ่นพิษมากเป็นอันดับที่ 30 ของโลกและกรุงเทพฯ รถติดเป็นอันดับที่ 32 ของโลก
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย หรือ “iTIC” ในหัวข้อ “Power of Connectivity and Smart Mobility” เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้าน Connectivity and Smart Mobility โดยนายสุริยะ กล่าวปาฐกถาพิเศษ”ความพร้อมของการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย” ว่า การสัมมนาครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้น 4 แนวทางหลัก คือ 1.เปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ส่งเสริมและพัฒนาระบบโครงข่ายทางถนนและทางพิเศษให้ครอบคลุมความต้องการเดินทางของประชาชนและการส่งเสริมพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าทางน้ำที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ตลอดจนการศึกษาโครงการ Land Bridge เชื่อมทะเลอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน บริเวณจังหวัดชุมพร-ระนอง 2.เน้นความปลอดภัยลดอุบัติเหตุในการเดินทางของประชาชน 3.เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีและลดต้นทุนในการเดินทาง และ 4.เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น Green Transport ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 โดยส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในการเดินทาง ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริการครอบคลุมการเดินทาง เช่น รถไฟใต้ดิน บนดิน ในกรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการทั้งสิ้น 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 276.84 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีถนนทางหลวง ทางหลวงชนบทและทางหลวงท้องถิ่น ทั่วประเทศรวมระยะทาง 707,364.25 กิโลเมตร
นายนินนาท ไชยธีระภิญโญ ประธานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย หรือ “iTIC” กล่าวว่า มูลนิธิฯ พร้อมระดมความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนขับเคลื่อนข้อมูล Big Data ระหว่างหน่วยงานนำมาประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลแก้ปัญหาจราจรและลดอุบัติเหตุแบบ real-time เช่น การปิดจราจร, อุบัติภัย, ไฟไหม้, เมฆฝน, น้ำท่วม, ภัยพิบัติ รวมทั้ง ฝุ่น PM2.5 ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญมีการแจ้งเตือนการเกิดอุบัติเหตุให้ผู้ขับขี่ได้ทราบในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดเกิดเหตุด้วย ทั้งนี้มูลนิธิฯ ยังได้มีการรายงานข้อมูลแบบ real time traffic โดยใช้ข้อมูลจาก Vehicle Probe กว่า 100,000 คัน วิ่งอยู่ทั่วประเทศมาประมวลผลแสดงบน Digital Map มีกล้อง CCTV รวมทั้งหมด 282 กล้อง ซึ่งในอนาคตยังมีแผนที่จะขยายการเชื่อมต่อกล้อง CCTV จากเทศบาลนครภูเก็ต อุดรธานี หนองคาย เชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัด มาใช้ประโยชน์เพื่อดูสภาพการจราจรในจังหวัดต่าง ๆ ด้วย
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงแนวคิดใหม่ในการสัญจรของคนกรุง ด้วยว่า ปัจจุบัน กทม.มีกล้อง CCTV อยู่ประมาณ 60,000 กล้อง เพื่อใช้งานด้านจราจรและความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีแผนนำระบบ AI มาวิเคราะห์หรือหาข้อมูลเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาจราจรให้ดีขึ้น โดยนำเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI มาบริหารจัดการสัญญาณไฟจราจรในแต่ละแยกยุทธศาสตร์ โดยได้ดำเนินการแล้วบนถนนพระรามสี่ เป็นต้น
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึง “ศักยภาพของเอกชนไทยในการขับเคลื่อน สมาร์ทโลจิสติกส์ รถ เรือ ราง” ด้วยว่า สมาร์ทโลจิสติกส์ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และสมาร์ท คือ การควบคุมการเดินทางแบบไร้รอยต่อและต้องการลดต้นทุนการขนส่ง อย่างไรก็ตาม มักมีคำถามตามว่า ทำไมต้อง “สมาร์ทโลจิสติกส์” ก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ในการลดต้นทุนของการขนส่งและคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศนั้น ๆ ซึ่งถ้าถามว่าขณะนี้ประเทศไทยพร้อมไหมในการแข่งขัน ตนเองมองว่าประเทศไทยมีความพร้อมกว่าหลายประเทศในอาเซียน ถึงแม้จีดีพี เราจะเติบโตน้อยกว่า แต่เรามีความพร้อมมากกว่าทั้งระบบราง ทางน้ำ และทางเรือ นอกจากนี้ไทยเรายังมีเครือข่ายระบบ 5 จี ที่ดีกว่าหลายประเทศ รวมทั้งไทยเรายังเป็นศูนย์กลางของอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV นอกจากนี้ไทยเรายังทักษะฝีมือแรงงานที่ดีกว่าหลายประเทศ มีรัฐบาลคอยสนับสนุนซึ่งจะทำให้ไทยประสบความสำเร็จได้ในอนาคตอันใกล้ โดยในปี 2022 ที่ผ่านมา ไทยเราผลิตรถยนต์ได้ 1.9 ล้านคัน และต่อไปเราจะต้องก้าวไปสู่ธุรกิจอีวี ซึ่งจากระบบสาธารณูปโภคในปัจจุบันเราพร้อมที่จะทำตรงนี้ ถ้าเราทำได้โดยเฉพาะการชาร์จรถยนต์คันใหญ่ โดยใช้เวลาน้อยที่สุดและพัฒนาระบบแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพ ชาร์จได้เร็ว รถวิ่งได้ระยะทางไกลขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแบตเตอรี่ในรถไฟที่สามารถทำได้เร็ว หรือ รถเมล์ที่ใช้ไฟฟ้าโดยวางแบตเตอรี่ไว้ที่บนหลังคา สมาร์ทโลจิสติกส์ จะเกิดขึ้นในบ้านเราในระยะเวลาอันใกล้นี้
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเสวนาในหัวข้อ”โอกาสของไทยในการเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งภูมิภาคเชื่อมไทย เชื่อมโลก”ว่า เวลาเรามองประเทศในอาเซียน เราจะมองเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนบนหรือด้านเหนือ คือ ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชาเวียดนาม และ ส่วนล่างหรือด้านใต้ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทยเราจะอยู่อันดับ 4 ของระบบการขนส่ง โดยมีสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซียที่อยู่อันดับ 1-3 ตามลำดับ โดยอินโดนีเซียแซงไทยขึ้นมาอยู่อันดับ 3 เนื่องจากอินโดนีเซียเพิ่งจะมีรถไฟความเร็วสูง หากรถไฟความเร็วสูงในไทยเสร็จสมบูรณ์ ไทยเราจะขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ของอาเซียนด้านการขนส่งทันที ส่วนเรื่องการขนส่งทางอากาศ ไทยเรายืนอยู่อันดับที่ 1 นอกจากนี้การขนส่งทางเรือถ้าท่าเรือน้ำลึกสำเร็จ ไทยเราจะก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของการขนส่งทางเรือ ในส่วนของการขนส่งทางราง ต้องยอมรับว่า ไทยเราหยุดการพัฒนามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เราเพิ่งจะมาลงทุนเรื่องการขนส่งทางรางอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ผ่านมา ถ้าเราลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไทยเราจะก้าวขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ของอาเซียนในเรื่องของระบบการขนส่ง
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวเพิ่มเติมในหัวข้อเดียวกัน ว่า ที่ผ่านมา เราส่งออกทุเรียนปีละเกือบ 1 ล้านตันจากเดิมที่ขนส่งทางเรือ แต่หลังจากนี้ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 เป็นต้นไป การขนส่งทางราง จะเริ่มแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นว่า ไทยเราก็มีศักยภาพเช่นกัน โดยในอีก 4 ปีข้างหน้า เมื่อรถไฟความเร็วสูงสำเร็จ การขนส่งทางรางจะทำให้ไทยมีศักยภาพมากขึ้นในการแข่งขัน โดยในปีหน้ารถไฟรางคู่ จะก่อสร้างเสร็จ เราจะได้เห็นการขนส่งทางรางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน. -สำนักข่าวไทย