อุดรธานี 28 ต.ค. – รมว.พาณิชย์ ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี พบปะชาวนาและโรงสี ติดตามสถานการณ์การผลิตข้าว และรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อนำไปจัดทำมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 ที่จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นไป เผยเตรียมชง นบข. พิจารณา 4 มาตรการ ให้เกษตรกรและสหกรณ์เก็บสตอก ผู้ประกอบการเก็บสตอก ให้สินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก และช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. อุดรธานี จำกัด จ.อุดรธานี ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตเเละราคาข้าวเปลือกมาโดยตลอด เเละได้รับฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องเกษตรกรเรื่องเสถียรภาพราคาข้าว เเละได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ให้เร่งดำเนินการเเก้ไขปัญหาเสถียรภาพราคาข้าวโดยด่วน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเเละความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร
ทั้งนี้ ได้รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากเกษตรกร โรงสี เเละผู้ส่งออก เพื่อนำข้อมูลไปพิจารณาเพื่อจัดทำมาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี 2566/67 ที่จะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป เพื่อช่วยดูแลเสถียรภาพราคาข้าวให้กับเกษตรกร
ทั้งนี้ จากการรับฟังความคิดเห็นทั้งจากเกษตรกร โรงสี ผู้ส่งออก ได้มีข้อเสนอเพื่อจัดทำมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก โดยทุกภาคส่วนเห็นว่าควรดำเนินมาตรการสำหรับปีการผลิต 2566/67 จำนวน 4 โครงการ ได้แก่
(1) การเก็บสตอกเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อชะลอข้าวเปลือก เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยช่วย 1,500 บาท/ตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน เกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1-5 เดือน และให้นำออกขายเมื่อข้าวราคาดี
(2) ผู้ประกอบการเก็บสตอก เป้าหมาย 10 ล้านตัน ช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสตอก 2-6 เดือน
(3) สินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1%
(4) ช่วยลดต้นทุนการผลิต หรือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท
อย่างไรก็ตาม จะได้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเร่งนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่ามาตรการที่ให้เกษตรกร สหกรณ์ และให้ผู้ประกอบการช่วยเก็บสตอกและเสริมสภาพคล่อง จะทำให้ราคาข้าวเปลือกในฤดูกาลนี้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และยังได้ใช้โอกาสนี้ติดตามการดำเนินโครงการ “พาณิชย์สั่งลุย ลดราคาปุ๋ย” ณ จังหวัดอุดรธานี โดยมีสถาบันเกษตรกรที่สั่งซื้อปุ๋ยในโครงการในลอตแรก ที่จะส่งมอบระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1. สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. อุดรธานี 2. สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินบ้านน้ำพ่น 3. สหกรณ์การเกษตรหนองวัวซอ และ 4. สหกรณ์การเกษตรกุดจับ ปริมาณปุ๋ยรวม 1,200 กระสอบ ซึ่งได้มีการรับมอบและส่งมอบในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการนี้จะยังคงแซงต่อไปจนถึงสิ้นสุดเดือนธันวาคม ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยไปได้สูงสุดกระสอบละ 50 บาท. – สำนักข่าวไทย