สุราษฎร์ธานี 27 ต.ค. – กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หนุนนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ให้บริการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด แบบเพิ่มจำนวนโรคในส่วนภูมิภาค หวังเด็กแรกเกิดไทยได้รับการวินิจฉัยทั่วถึง และรักษาทันท่วงที
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วยนายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับผิดชอบการตรวจวิเคราะห์วิจัยในเขตสุขภาพที่ 11 ได้แก่ จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ให้สามารถเปิดบริการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรค ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 11 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ เพื่อให้ทารกแรกเกิดไทยได้เข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึงและเกิดความเป็นธรรมทางสุขภาพ จากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดทารกแรกเกิดที่ส่งจากโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ถึงปัจจุบัน จำนวน 11,680 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบทารกแรกเกิด จำนวน 1 ราย เสี่ยงต่อการเกิดโรคฉี่หอม ซึ่งเป็นกลุ่มโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก (IEM) โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้ส่งตัวอย่างตรวจยืนยันที่โรงพยาบาลศิริราช และติดตามทารกประเมินสุขภาพ พร้อมลงทะเบียนทารกในระบบของศูนย์โรคหายากแล้ว นอกจากนี้ยังพบภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด (TSH) ในทารกแรกเกิด จำนวน 59 ราย โดยได้แจ้งโรงพยาบาลผู้ส่งตรวจ เพื่อตรวจยืนยันและรักษาทารกแล้ว
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่าในปีงบประมาณ 2567 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้ศักยภาพการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด แบบเพิ่มจำนวนโรค โดยบริการตรวจคัดกรองโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกเพิ่มเป็น 40 โรค และภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด โดยรองรับตัวอย่างกระดาษซับเลือดได้ถึงวันละ 200-300 ตัวอย่าง และรายงานผลภายใน 5 วัน กรณีพบผลบวก ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี จะโทรแจ้งโรงพยาบาล ผู้ส่งตัวอย่างโดยตรง เพื่อติดตามเด็กทารกมาประเมินสุขภาพ และเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจยืนยันที่โรงพยาบาลศิริราช และหากการตรวจยืนยันพบความผิดปกติ แพทย์ศูนย์โรคหายากจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจะให้คำปรึกษา แนะนำการรักษารวมถึงส่งนมพิเศษ ยา ไปให้ทางโรงพยาบาลต้นทางที่เด็กรับการรักษา โดยมีเป้าหมายนำเด็กที่มีผลการตรวจคัดกรองผิดปกติ เข้าสู่การตรวจยืนยันและวินิจฉัยโรคโดยเร็ว เพื่อให้ได้รับการรักษาทันท่วงที ทั้งนี้ โรงพยาบาลสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี โทร 0 7735 5301- 6 ต่อ 208 และ 210. -สำนักข่าวไทย