กรุงเทพฯ 25 ต.ค.-“สุรพงษ์” รมช.คมนาคม ตรวจงานรถไฟฟ้าสายสีแดง เร่งสร้างส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท คาดทั้ง 3 เส้นทาง ครม.จะพิจารณาเห็นชอบได้ภายในปีนี้ ขณะที่นโยบาย 20 บาทตลอดสายมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 3 พัน แต่รายได้ลดลงวันละ 1.7 แสนบาท
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ว่า ได้เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางประกอบด้วย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท,ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กิโลเมตร วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,616 ล้านบาท รวมวงเงินส่วนต่อขยายทั้ง 3 เส้นทาง ประมาณ 22,000 ล้านบาท
โดยส่วนต่อขยายช่วง รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขณะนี้ได้เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรอบรรจุเป็นวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติ สามารถเปิดประมูลโครงการได้ทันที คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมูล 6-8 เดือน
ส่วนอีก 2 เส้นทาง คือ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา อยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อกระทรวงคมนาคมในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบต่อไป ส่วนช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ได้ตอบกลับความเห็นไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รอทางสภาพัฒน์รับทราบการตอบกลับของ รฟท.มาก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และทั้ง 3 เส้นทาง คาดว่าครม.จะพิจารณาเห็นชอบได้ภายในปี 2566
นายสุเทพ พันธ์ุเพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ได้รายงานให้ นายสุรพงษ์ ทราบด้วยว่าหลังจากเก็บค่าโดยสารตลอดสาย 20 บาทมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2566 มีผู้โดยสารใช้บริการวันธรรมดาอยู่ที่ 24,945 คน มีรายได้ 725,059 บาท หลังจากมีนโยบาย 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสาร 27,941 คนต่อวัน มีรายได้ 553,729 บาทต่อวัน อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้โดยสารมากที่สุดถึง 31,000 คน จากเดิมที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 26,000-27,000 คนในช่วงที่ยังไม่ได้เก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย และเมื่อนำข้อมูลจำนวนผู้โดยสารและรายได้เปรียบเทียบกันช่วงก่อนและหลังนโยบาย 20 บาทตลอดสาย พบว่า จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2,996 ต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.01 ขณะที่รายได้ลดลง 171,330 บาทต่อวันหรือคิดเป็นลดลงร้อยละ 23.63
ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จำนวนผู้โดยสารก่อนใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายอยู่ที่ 16,002 คนต่อวัน มีรายได้512,096 บาทต่อวัน และหลังใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารอยู่ที่ 19,925 คน รายได้ 387,600 บาท และเมื่อนำข้อมูลจำนวนผู้โดยสารและรายได้เปรียบเทียบกันช่วงก่อนและหลังนโยบาย 20 บาทตลอดสาย พบว่า จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3,923 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 22.52 ขณะที่รายได้ลดลง 124,496 บาทต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ24.31 อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าสายสีแดงมีให้บริการ 25 ขบวน เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนเพราะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากที่สุดถึง 200,000 คนต่อวัน
สำหรับการเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดงกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ขณะนี้ทางธนาคารกรุงไทยกำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ คาดว่าจะสามารถใช้บริการสายสีแดงและสีม่วงข้ามระบบได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายอยู่ที่สถานีบางซ่อน โดยก่อนมีนโยบาย 20 บาทตลอดสายมีผู้ใช้บริการข้ามสายอยู่ที่ 300 คนต่อวันและหลังจากมีนโยบาย 20 บาท มีผู้ใช้บริการ 500 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 200 คนต่อวัน.-สำนักข่าวไทย