28 ก.ย. – EXIM BANK ลุย CSR สร้างความยั่งยืน ส่งเสริมอาชีพ “สตรีกลุ่มเปราะบาง” ครบวงจรตั้งแต่ผลิตสู่การส่งออก
ประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) เป็นกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของภาคธุรกิจที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ให้ความสำคัญ โดยสาระสำคัญประกอบด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Protect) การเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect) และการเยียวยา (Remedy) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ภายใต้บทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยไม่ทิ้งคนตัวเล็ก จึงนำเอาหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศในที่ทำงาน การออกผลิตภัณฑ์ การให้บริการ การรับฟังเสียงของลูกค้าอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงานภายในองค์กร คู่ค้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน สร้างประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและสังคมภายใต้แนวคิด Human Right In Process ต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
แนวทางการบริหารของ EXIM BANK คือ People before Profit ตามหลักการ 4P (People, Planet, Productivity, and Profit) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยด้าน People “คนเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการพัฒนา” ไม่ใช่แค่คนในองค์กร แต่ยังรวมถึงลูกค้า ผู้ประกอบการ พันธมิตร และที่ขาดไม่ได้คือ “ชุมชนที่เราอยู่” สำหรับพนักงานของ EXIM BANK มีสวัสดิการ Flexi Benefit เป็นสวัสดิการเท่าเทียม ที่ยืดหยุ่น ปรับได้ตามความต้องการของพนักงานแต่ละคนและแต่ละครอบครัว นอกจากนี้ EXIM BANK ยังสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเพศใด สถานะใดก็ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ไม่แบ่งแยกเพศ ศาสนา และไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ EXIM BANK เป็น Empathic Workplace ภายใต้แนวคิด “Diversity & Inclusion”
ภารกิจของ EXIM BANK ได้แก่ การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance : ESG) บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน ผ่านการให้สินเชื่อและการระดมทุน โดยเฉพาะในมิติด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อ EXIM Green Start สินเชื่อ SLL ของ Sustainability Linked Loan สินเชื่อ Solar Orchestra และสินเชื่อ EXIM Solar D-Carbon Financing และการระดมทุนผ่านการออก Green Bond และ SME Green Bond รวมทั้งสิ้น 8,500 ล้านบาทตามกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Framework) ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์สู่การเป็น Green Development Bank และเน้นย้ำถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์สีเขียวของ EXIM BANK ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนหรือการให้สินเชื่อเกี่ยวข้องกับ “การเคารพสิทธิมนุษยชน” โดยมีส่วนช่วยสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้ดีขึ้นช่วยให้มวลมนุษยชาติ สามารถเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เขียวขึ้น สะอาดขึ้น น่าอยู่และปลอดภัยมากขึ้น อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกชีวิตพึงจะต้องมีเป็นลำดับต้น ๆ ของชีวิต
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ไม่เพียงแต่นำเอา Human Right In Process มาใช้ในการทำงาน แต่ได้นำมาใช้ในการกำหนดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการ CSR in Process ของธนาคารด้วย โดยนำเครื่องมือ “เติมความรู้ เติมโอกาส เติมเงินทุน” เข้าไปสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ต่อยอด และเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างอาชีพตลอดห่วงโซ่การส่งออก ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่าง ๆ ตัวอย่างโครงการ CSR ของ EXIM BANK คือ การจัดพื้นที่ให้ร้านกาแฟยิ้มสู้ ภายใต้มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ มาจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมที่ผลิตโดยผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และการดูแลกลุ่มเปราะบางที่มีศักยภาพด้านการผลิตสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ให้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองเมื่อพ้นโทษแล้ว
“หลายองค์กรเลือกทำโครงการ CSR ปลูกป่าช่วยลดโลกร้อน ซึ่งต้องใช้กำลังคนไปดูแล ถ้าไม่มีคนไปคอยรดน้ำ ให้อยู่ไปตามธรรมชาติ ก็จะล้มตายไป ในขณะที่กลับมาดูตัวเลขของจำนวนผู้ต้องขังในทัณฑสถานทั่วประเทศ ตามสถิติมีผู้พ้นโทษแต่อีกไม่นานก็กลับไปเป็นผู้ต้องขังใหม่ถึง 50% เนื่องจากออกมาแล้วไม่มีงานทำหรือสังคมไม่ให้โอกาส สถิติของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย (Kenan Foundation Asia) พบว่า หากมีการบ่มเพาะความรู้ ฝึกอาชีพ จะช่วยให้อัตราการกลับไปเป็นผู้ต้องขังอีกลดลงเหลือ 35% ถ้าทุกคนทุกองค์กรช่วยกันทำให้อัตรานี้ลดลงเหลือ 0% ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากและจะแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว
EXIM BANK จึงได้ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียและทัณฑสถานหญิงกลาง ริเริ่ม “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการสตรีกลุ่มเปราะบาง” ขึ้น เพื่อคืนคนดีให้สังคม สร้างโอกาส พัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการสตรีกลุ่มเปราะบาง ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการสตรีในชุมชนรอบ EXIM BANK ในเขตพญาไทและเขตจตุจักร รวมถึงผู้ต้องขังสตรีที่ใกล้พ้นโทษจากทัณฑสถานหญิงกลาง ให้สามารถพึ่งพาตนเองสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพ และเชื่อมโยงไปสู่ตลาดการส่งออกในอนาคต และได้ร่วมกับลูกค้า EXIM BANK รวม 5 องค์กรคือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมโครงการรับซื้อสินค้าจากกลุ่มสตรีเหล่านี้ไปใช้ในกิจการ
นางระพีพันธ์ หิมะคุณ เจ้าพนักงานราชทัณฑ์อาวุโส ดูแลฝึกอาชีพผู้ต้องขังหญิง ทัณฑสถานหญิงกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ร้านชวนชมซึ่งเป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ต้องขังหญิงในส่วนของการฝีมือขายได้เดือนละ 3 แสนบาท มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงที่ทัณฑสถานนำมาฝึกฝีมือ ฝึกอาชีพ 190 คน มีการแบ่งปันผลประโยชน์เป็นไปตามกฎหมายคือ 50% ของกำไรสุทธิที่หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว เงินเหล่านี้จะสะสมไว้เป็นเงินทุนสำหรับผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษและไปประกอบอาชีพ ปัจจุบันสินค้ามีจำหน่ายที่เพจผลิตภัณฑ์ทัณฑสถาน ในเว็บไซต์ และในแพลตฟอร์ม Shopee ซึ่งมีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาซื้อจากแพลตฟอร์มออนไลน์ และมียอดสั่งซื้อจากส่วนราชการและเอกชนที่ต้องการนำสินค้าไปใช้
นางระพีพันธ์ กล่าวว่า ผู้ต้องขังสามารถที่จะส่งสินค้าไปต่างประเทศได้ หากสังคมให้โอกาส ก็จะมีชีวิตใหม่หลังพ้นโทษ เป็นการนำคนดีกลับคืนสู่สังคม คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปัจจุบันสังคมเมืองและสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงมีความสามารถที่หลากหลาย โครงการ CSR ที่ให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพจะช่วยเสริมสร้างและหล่อหลอมให้เกิดคนดีที่มีความคิด ประกอบอาชีพสุจริต ขอบคุณคีนันและ EXIM BANK ที่นำสิ่งดี ๆ มาให้คนเหล่านี้ ทำให้หลายครัวเรือนมีงานทำและมีรายได้จุนเจือครอบครัว
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีการทำ CSR อยู่แล้ว การเข้าร่วมรับซื้อสินค้าจากสตรีกลุ่มเปราะบางถือเป็นการคืนคนดีให้กับสังคม เป็นการคืนกำไรให้กับสังคมทางหนึ่ง คืนความสุขให้กับพนักงาน คืนกำไรให้กับผู้ถือหุ้นด้วย สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญและทำให้เรามีส่วนพัฒนาสังคมให้ยั่งยืน
นายวสุ กลมเกลี้ยง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราสนับสนุนโครงการของ EXIM BANK เพราะเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยเหลือผู้ต้องขังให้มีอาชีพและสามารถกลับเข้ามาสู่สังคมได้ ปกติบริษัททำ CSR ต่อเนื่องด้วยการส่งเสริมอาชีพให้แก่ชุมชนด้วยการให้ปลูกผักใต้แผงโซลาร์เซลล์อยู่แล้ว แต่โครงการนี้เป็นการสร้างงาน สร้างอนาคตให้โอกาสกับคน เป็นโครงการที่ดีมาก จึงอยากสนับสนุน
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXAC) ของ EXIM BANK จะบ่มเพาะกลุ่มสตรีเปราะบางให้มีความรู้ในการทำธุรกิจ การวางแผน การทำบัญชี การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วยตราสัญลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งการเขียนโมเดลธุรกิจ เพื่อจะได้เข้าใจองค์ประกอบของธุรกิจ และนำไปสู่การต่อยอดหรือหาเงินทุนสำหรับขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งวิธีการสร้างงานสร้างอาชีพจะช่วยให้ผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษมีอาชีพ มีรายได้ เป็นการสนับสนุนอย่างยั่งยืนที่ดีที่สุด
จากความมุ่งมั่นในการนำเอาหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการองค์กรและปฏิบัติงานในทุกระดับตลอดห่วงโซ่อุปทานร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยและโลกโดยรวมไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ EXIM BANK ได้รับรางวัล “องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ระดับดีเด่น ประจำปี 2566” ประเภทองค์กรรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม นับเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ในสังกัดกระทรวงการคลังแห่งเดียวที่ได้รับรางวัลในปีนี้ . – สำนักข่าวไทย