กรุงเทพฯ 28 ก.ย. – Krungthai COMPASS-โกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีฯ คาดกนง. ขึ้นดอกเบี้ย0.25% สู่ระดับ 2.5% สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้
จากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติเป็นเอกฉันท์วานนี้(27ก.ย.)ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.50 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 8 ติดต่อกันนับจากอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำสุดในเดือนสิงหาคม 2565 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากปัจจัยหนุนด้านการบริโภคภาคเอกชน แม้เศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวชะลอลงจากอุปสงค์ต่างประเทศ แต่เศรษฐกิจปี 2567 จะขยายตัวเร่งขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
Krungthai COMPASS ประเมินว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นการสิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้แล้ว จากการสื่อสารของ กนง. ที่ชี้ว่า“อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นระดับที่เหมาะสม” อีกทั้ง มุมมองของ กนง. ต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะยาวที่ประเมินว่ามีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย เอื้อให้ กนง. อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้รวมถึงตลอดช่วงปีหน้า
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุ จากถ้อยแถลงระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่ามีแนวโน้มขยายตัว 2.8% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.6% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปี 2567 ผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.6%
สำหรับค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสั้นๆ ก่อนจะปรับลงสู่ระดับก่อนการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 36.55 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทปรับลงราว 5.8% โดย กนง. ยังได้กล่าวถึงการอ่อนค่าลงของเงินบาทซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินของเฟด และนักลงทุนในตลาดต่างเฝ้ารอดูความชัดเจนของนโยบายภาครัฐที่อาจส่งต่อเศรษฐกิจโดยรวมและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต
สำหรับ การประชุมกนง. ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งจากท่าทีของที่ประชุมกนง. ในวานนี้แม้ยังคงมีความกังวลถึงความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐ และต้นทุนราคาอาหารที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี เป็นครั้งแรกที่ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ดังนั้น กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 2.50% เป็นระดับสูงสุดในวัฏจักรนี้.-สำนักข่าวไทย