ตรัง 18 ก.ย. – รักษาราชการแทนอธิบดีกรม ทช. เผย เครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากที่ได้รับการอบรมจากกรมทช. สามารถช่วยชีวิตลูกพะยูนเกยตื้นที่หาดในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรังกลับลงน้ำลึกอย่างทันท่วงที ล่าสุดศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่างใช้โดรนออกติดตามพบลูกพะยูนเข้าฝูงแล้ว โดยยังคงเฝ้าระวังการเกยตื้นอย่างใกล้ชิด
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายสันติ นิลวัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ว่า ได้รับแจ้งจากนายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรังซึ่งพบลูกพะยูนเกยตื้นใกล้กับสะพานท่าเรือเกาะมุกด์ ห่างจากฝั่งประมาณ 500 เมตร
ลูกพะยูนมีความยาวประมาณ 140 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 50 – 60 กิโลกรัม โดยเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเบื้องต้น จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และได้รับมอบอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นมีชีวิต จึงนำอุปกรณ์มาเคลื่อนย้ายลูกพะยูนกลับสู่บริเวณน้ำลึกได้สำเร็จภายในเวลา 30 นาที
จากนั้น เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้นำเรือขนาด 23 ฟุต ไปยังเกาะมุกด์เพื่อสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำของลูกพะยูนตัวดังกล่าว โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) แบบ Multi-rotor จำนวน 2 เครื่อง บริเวณหน้าเกาะมุกด์ใกล้กับจุดที่พบการเกยตื้น จากผลการสำรวจพบพะยูนอยู่รวมกัน 1 ฝูง จำนวน 6 ตัว โดยมีพะยูนโตเต็มวัย 4 ตัว ลูกพะยูน 2 ตัว และพบว่า ลูกพะยูนตัวดังกล่าวกลับสู่ฝูงได้สำเร็จ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศวอล. ได้เฝ้าระวังการกลับมาเกยตื้นซ้ำของลูกพะยูนตัวดังกล่าวในพื้นที่ต่อไป