กรุงเทพฯ 2 ก.ค. – ทันทีที่ “พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560” มีผลบังคับใช้ เริ่มมีเสียงสะท้อนจากนายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะนายจ้างประสบปัญหาขาดแรงงาน เพราะโดนทั้งถูกแรงงานทิ้งหนีกลับประเทศ และต้องเลิกจ้างแรงงานผิดกฎหมาย เพราะโทษไม่คุ้มรายได้
พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ทำให้ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเริ่มได้รับผลกระทบ ทีมข่าวสำนักข่าวไทย ลงพื้นที่สอบถามผู้ให้บริการร้านล้างรถย่านลาดพร้าว 130 ยอมรับ รู้สึกตกใจและกังวลกับกฎหมายที่ออกมา เพราะมีโทษปรับนายจ้างและลูกจ้างที่สูงมาก ส่วนการพูดคุยกับลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวบางคนก็กังวล ขอเดินทางกลับประเทศ เพื่อไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายทำให้ขณะนี้ลูกจ้างไม่พอ รายได้ลดลงไปกว่าครึ่ง เพราะปกติรับล้างรถได้ถึงวันละ 60 คัน ก็เหลือเพียง 30 คันต่อวัน
ส่วนผู้ประกอบการร้านล้างรถอีกราย ย่านเหม่งจ๋าย เปิดเผยว่า ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวยังมาทำงานตามปกติ แต่กำลังรอฟังรัฐบาลว่าจะช่วยแก้ปัญหาอย่างไร ก่อนพิจารณาอีกครั้งระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนลูกจ้าง แต่หากช่วงนี้ลูกจ้างขอกลับประเทศไปก่อน ร้านก็จะขาดแคลนแรงงานแน่นอน
ขณะที่นายสุรวุฒิ วงษ์สำราญ กรรมการหอการค้าจังหวัดสระแก้วฝ่ายโลจิสติกส์และผู้ประกอบการขนส่ง ระบุว่า พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ส่งผลกระทบกับธุรกิจเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายเล็กๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ต้องเดือดร้อน และมองว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้เอื้อประโยชน์บริษัทจัดหางานโดยตรง ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่บางรายทุจริตเรียกรับส่วยได้
ไม่ต่างจาก นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยที่ออกมายอมรับว่า พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ประมง กลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มภาคครัวเรือนที่ต้องจ้างแรงงานต่างด้าวไว้ดูแลบ้าน มองว่า การที่รัฐบาลออกระเบียบข้อบังคับ เพราะอาจได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และหอการค้าไทยได้เข้าหารือและชี้แจงข้อมูลแล้วซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนผันน่าจะช่วยลดความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการได้ระดับหนึ่ง
ขณะที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดเสวนารับฟังความเห็นจากตัวแทนแรงงานข้ามชาติ เพื่อฟังเสียงสะท้อนจากแรงงานเมียนมาร์ ในพื้นที่สมุทรสาคร และใกล้เคียง ทำให้ทราบว่ามีแรงงานเถื่อน และแรงงานถูกกฎหมายแต่ขาดเอกสาร เพราะเปลี่ยนนายจ้าง และถูกหลอกให้ทำพาสปอร์ตปลอม ทยอยกลับประเทศนับหมื่นคนแล้ว ส่วนข้อเสนอของแรงงานที่ถูกกฎหมาย คือ ขอให้สามารถย้ายนายจ้างได้อย่างสะดวก และขอพกเอกสารไว้กับตัว เพื่อป้องกันการถูกจับกุม รวมถึงอยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสจดทะเบียนแรงงานอีกรอบ หรือถ้าเป็นไปได้อยากให้การนำเข้าแรงงานผ่านภาครัฐของเมียนมาร์และมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าปัจจุบันที่มีราคาอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อคน. -สำนักข่าวไทย