สนค.เผยเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกปี66 ไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.49

นนทบุรี 22 ส.ค.-สนค. เผยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีแรกของปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.49 ต่ำเป็นอันดับ 9 ของโลกจาก130 เขตเศรษฐกิจ เหตุสำคัญมาจากฐานการคำนวณที่สูง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและมาตรการต่างๆของภาครัฐเข้ามาเสริม


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของโลกในปี 2566 ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรก ปี 2566 ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.49 ต่ำเป็นอันดับ9 ของโลกจาก 130 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำสาเหตุสำคัญมาจากฐานการคำนวณที่สูง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐทั้งมาตรการทางด้านการเงิน การคลัง และมาตรการลดค่าครองชีพอื่น ๆ รวมไปถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายเขตเศรษฐกิจทั่วโลก

ทั้งนี้ ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 – 2566) โลกเผชิญกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการในวงกว้างอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้า โรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ส่งผลให้หลายเขตเศรษฐกิจประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด – 19 การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก อุปสงค์ลดลง ทำให้ราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างมาก จนอัตราเงินเฟ้อของหลายเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำอย่างไรก็ตาม เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด – 19 คลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง 


ขณะที่ภาคการผลิตและภาคการขนส่งบางส่วนฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับเกิดโรคระบาดในปศุสัตว์ และสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ราคาสินค้าและบริการบางประเภท อาทิ น้ำมัน ค่าบริการขนส่งทางเรือ เนื้อสุกร และผักสด ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับต้นปี 2565 เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ธัญพืช และแร่ธาตุสำคัญ ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกหลัก ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่ง อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจึงพุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบไปยังต้นทุนของภาคธุรกิจและค่าครองชีพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม จาก World Economic Outlook ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ของ International Monetary Fund (IMF) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อโลกเฉลี่ยปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 และ 8.7 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.23 และ 6.08 ตามลำดับ ส่วนปี 2566 อัตราเงินเฟ้อในหลายเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดย IMF คาดการณ์ว่าปี 2566 อัตราเงินเฟ้อโลกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.8 ลดลงอย่างชัดเจนจากปี 2565 สาเหตุสำคัญมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ฐานการคำนวณในปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูงและการใช้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ 

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อระหว่างเขตเศรษฐกิจทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2566 สูงขึ้นร้อยละ 2.49 อยู่ในระดับต่ำเป็นอันดับที่ 9 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข และต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 7 ประเทศที่มีการประกาศตัวเลข โดยเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี2566 สูงกว่าไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา บราซิล เกาหลีใต้ อินเดีย และประเทศกลุ่มอาเซียน (เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว) 


ขณะที่เขตเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน ปี 2566 ต่ำกว่าไทย อาทิ บาห์เรน จีน มาเก๋า ปานามา โอมาน ฟิจิฮ่องกง และไต้หวัน อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อระหว่างเขตเศรษฐกิจเป็นการศึกษาแนวโน้มสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการของแต่ละเขตเศรษฐกิจในภาพรวม ไม่สามารถเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าเขตเศรษฐกิจใดมีเสถียรภาพทางด้านราคามากหรือน้อยกว่ากัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจนั้น ๆ และจะต้องพิจารณาร่วมกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่น ๆ  

นอกจากนี้ ตลอดช่วงระยะเวลาที่เงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับสูง (ปี 2565) หลายเขตเศรษฐกิจทั่วโลกได้ดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบในหลากหลายรูปแบบ ทั้งมาตรการทางด้านการเงิน การคลัง มาตรการดูแลค่าครองชีพ และอื่น ๆ ดังนี้ 

มาตรการด้านการเงิน ได้แก่ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีการดำเนินการในหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป อินเดีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อชะลอการใช้จ่ายของภาคธุรกิจและประชาชน รวมถึงเพื่อลดการไหลออกของเงินทุนในประเทศ ไปยังประเทศที่มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย อันจะส่งผลให้เงินอ่อนค่าลง และกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้า การแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้แข็งค่าขึ้น 

เนื่องจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและนักลงทุนบางกลุ่มย้ายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (ทองคำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ) จึงทำให้ค่าเงินในบางเขตเศรษฐกิจอ่อนค่าลงอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศที่ใช้มาตรการทางการเงินอื่น ๆ ที่เข้ากับบริบททางเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ การปรับเพิ่มอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ (Required Reserve Ratio) ในประเทศอินเดีย และการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศญี่ปุ่น มาตรการทางด้านการคลัง ได้แก่ การลดหย่อนภาษีสำหรับสินค้าบางประเภทที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อภาคการผลิต อาทิ การลดภาษีสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศเกาหลีใต้ การลดภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยเฉพาะประเภทน้ำมันที่นิยมใช้ในประเทศ อาทิ การลดภาษีน้ำมันดีเซลในประเทศไทย และการให้เงินช่วยเหลือเป็นรายเดือน เพื่อช่วยบรรเทาภาระของประชาชน 

มาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน และอื่น ๆ อาทิ การให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าไฟฟ้า และค่าแก๊สการควบคุมเพดานราคาหรือตรึงราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญ อาทิ ก๊าซหุงต้ม และอาหารสดนอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ อาทิ การจำกัดการส่งออกหรือเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ บางเขตเศรษฐกิจมีการลงทุนในระยะยาวเพื่อลดการพึ่งพาสินค้าจากเขตเศรษฐกิจอื่นอาทิ การหาพลังงานทดแทนจากแหล่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และสนับสนุนการใช้สินค้าที่ประหยัดพลังงาน เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สำหรับประเทศที่มีทรัพยากรด้านพลังงาน นอกเหนือจากกลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตร มีแนวโน้มจะเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น เพื่อลดอุปทานที่ตึงตัว 

ทั้งนี้ จะเห็นว่ามาตรการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้หลายเขตเศรษฐกิจสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดีซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัวลงต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงในอัตราที่ค่อนข้างรวดเร็ว ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหาร ซึ่งมีสัดส่วนการใช้จ่ายของคนไทยค่อนข้างมาก เมื่อราคาพลังงานลดลง และราคาสินค้ากลุ่มอาหารทรงตัว อัตราเงินเฟ้อของไทยจึงชะลอตัวลงและอยู่ในระดับต่ำ 

ทั้งนี้ การเกิดเงินเฟ้อของไทย มาจากปัญหาด้านอุปทานในต่างประเทศ ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศสูงขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนและประชาชนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าภาคการผลิต ทำให้ปัญหาอุปทานตึงตัวทวีความรุนแรงขึ้น ภาครัฐจึงออกมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงและลดราคาสินค้าและบริการ การสนับสนุนช่องทางการทำธุรกิจใหม่ ๆ การให้เงินกู้ช่วยเหลือ การอุดหนุนราคาพลังงาน และมาตรการอื่น ๆ ของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้ 

นอกจากนี้ เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อไป และอาจเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ โดยมีปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ฐานการคำนวณที่สูงในช่วงปลายปี 2565 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาผลจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐในมิติต่าง ๆ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายเขตเศรษฐกิจที่ส่งผลให้อุปสงค์โดยรวมของต่างประเทศลดลง และส่งผลมายังรายได้และกำลังซื้อของภาคธุรกิจและประชาชนในประเทศไทยอย่างไรก็ตาม ความผันผวนของราคาพลังงาน สถานการณ์ภัยแล้ง รวมไปถึงมาตรการของรัฐบาลชุดใหม่ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออาจไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป และขอให้ภาคธุรกิจและประชาชนวางแผนการเงินอย่างรัดกุมและติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้ปรับตัวได้อย่างทันสถานการณ์ .-สำนักข่าวไทย    

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ข่าวแนะนำ

วิเคราะห์การเมืองสนามใหญ่ หลังศึกเลือกตั้งนายก อบจ.

วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 4 สนามใหญ่ โดยเฉพาะอุดรธานี ที่สะท้อนถึงความนิยมในตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

“บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมมอบกุญแจมือเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนดัง ส่งนอนห้องขัง

“บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมมอบ “กุญแจมือ” เป็นของขวัญปีใหม่ให้อินฟลูฯ นักร้อง คนดัง ส่งนอนห้องขังวีไอพี เผยปม “ฟิล์ม รัฐภูมิ” คาดมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง