ชลบุรี 30 ก.ค.- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลบริเวณเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ที่เปลี่ยนเป็นสีเขียว พบว่าเกิดจากปรากฏการณ์ “แพลงก์ตอนบลูม” สาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ย้ำแพลงก์ตอนพืชที่เติบโตอย่างรวดเร็วขณะนี้ ไม่สร้างสารชีวพิษ แต่จะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า สั่งการให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) เร่งตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลบริเวณเกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ทันที่ที่ทราบว่า น้ำทะเลเปลี่ยนสี ผลการตรวจสอบพบปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีและมีกลิ่นเหม็น 5 พื้นที่ ได้แก่ ทางเดินเรือระหว่างเกาะล้าน-พัทยาใต้ เกาะสาก และบริเวณในพื้นที่เกาะล้าน ได้แก่ หาดหน้าบ้าน หาดตาแหวน และหาดเทียน
จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้น มีค่าอุณหภูมิ 30.1-31.2 องศาเซลเซียส ความเค็ม 30.9-31.8 ppt (ส่วนในพัน) ความเป็นกรดและด่าง 8.16-8.31 และออกซิเจนละลาย 4.20-7.69 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 4 เพื่อการนันทนาการ โดยยังไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ
นายอภิชัย กล่าวว่า ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีนี้เรียกว่า “แพลงก์ตอนบลูม” หรือ “ขี้ปลาวาฬ” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยใน 1 ปี จะเกิดขึ้น 2-3 วัน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและผู้ที่ลงเล่นน้ำทะเล สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์มาจากการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล มักเกิดในช่วงฤดูฝน หากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องและมีคลื่นลมแรงเป็นเวลาหลายวัน จะไปชะล้างธาตุอาหารที่อยู่ในพื้นดินบริเวณชายฝั่งลงสู่ท้องทะเล จนทำให้แพลงก์ตอนได้รับสารอาหารและเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการจำแนกชนิดของแพลงก์ตอนที่สะพรั่งในน้ำทะเลคือ แพลงก์ตอนพืชกลุ่มไดโนแฟลกเจลเลต ชนิด Noctiluca scintillans ซึ่งแพลงก์ตอนพืชชนิดนี้ไม่สร้างสารชีวพิษ
เมื่อออกซิเจนในน้ำทะเลหมดลง แพลงก์ตอนจะตายจนทำให้น้ำทะเลกลายเป็นสีต่างๆ เช่น น้ำตาล สีแดง สีเขียว หรือสีดำขุ่น ดังนั้นจึงกำชับเจ้าหน้าที่ ศวทอ. ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
พร้อมกันนี้ขอฝากถึงประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวประมงว่า อย่าปล่อยหรือทิ้งของเสียลงแม่น้ำ ให้ช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์ หากใครพบเห็นปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี พบสัตว์ทะเลเกยตื้น และการทำประมงผิดกฎหมาย สามารถแจ้งมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีต่อไป.-สำนักข่าวไทย