ตรัง 7 พ.ย.- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งช่วยเหลือพะยูนเกยตื้นมีชีวิตอยู่บริเวณแหลมจูโหย ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต. เกาะลิบง อ. กันตัง จ. ตรัง โดยพบว่า มีบาดแผลที่โคนหางซึ่งเกิดจากการถูกเชือกพันรัด แต่ขอบแผลเป็นเนื้อตายสมานกัน คาดเป็นแผลเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน จึงนำเชือกออกให้ เมื่อประเมินว่า สามารถตอบสนองและทรงตัวว่ายน้ำได้ดี จึงปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ( ศวอล.) ได้รับแจ้งจากนายกฤษณะ ผ่องศรี เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรังว่า พบพะยูนเกยตื้นมีชีวิตอยู่บริเวณแหลมจูโหย ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ต. เกาะลิบง อ. กันตัง จ. ตรัง
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศวอล. ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงนำเรือยางขนาดเล็กและเรือพาดหางยาว 4 ลำ เพื่อสำรวจและติดตามช่วยเหลือพะยูนตัวดังกล่าว พบว่า พะยูนมีเชือกรอบปูพันอยู่ที่โคนหาง เจ้าหน้าที่ ศวอล. จึงได้ทำการช่วยเหลือพะยูนและทำการปลดเชือกบริเวณโคนหางโดยทันที
จากการตรวจร่างกายเบื้องต้นพบว่า เป็นพะยูนเพศเมียอยู่ในช่วงวัยรุ่น ขนาดตัวประมาณ 2 เมตร มีเพรียงเกาะตามลำตัวเล็กน้อย มีบาดแผลที่โคนหางซึ่งเกิดจากการถูกเชือกพันรัด แผลบาดลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ ขอบแผลเป็นเนื้อตายสมานกัน เนื่องจากเป็นแผลเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานาน เมื่อประเมินว่า พะยูนสามารถตอบสนองและทรงตัวว่ายน้ำได้ดี จึงปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ศวอล. นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ พร้อมทั้งให้เร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนชายฝั่งในพื้นที่ให้เฝ้าระวังการเกยตื้นซ้ำของพะยูนตัวดังกล่าว
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ศวอล. ดำเนินการประชาสัมพันธ์นำคู่มือและแผ่นพับการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลเบื้องต้นแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อสร้างความเข้าใจในการช่วยเหลือการเกยตื้นหรือการได้รับบาดเจ็บของสัตว์ทะเลหายากให้ปลอดภัยทันท่วงที .-สำนักข่าวไทย