รัฐสภา 19 ก.ค. – สภาฯ ถกตีความข้อบังคับ 151 พิจารณาข้อบังคับ 41 ทำได้หรือไม่ ในการเสนอญัตติชื่อนายกฯ คนเดิม ขณะที่ตัวเลขรวมสมาชิกรัฐสภาลดลงเหลือ 748 คน คาดหลังศาล รธน. รับคำร้อง “พิธา” ถือหุ้นสื่อฯ
การประชุมรัฐสภา วาระเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยภายหลังจากที่นายสุทิน คลังแสง สส.พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดข้อถกเถียงในที่ประชุมรัฐสภาว่าขัดกับข้อบังคับข้อที่ 41 หรือไม่ ทำให้นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นทักท้วง พร้อมเสนอญัตติให้พิจารณาว่าการเสนอชื่อนายพิธา ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หรือไม่ ซึ่งเป็นการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่ง สส.ฝั่งพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเห็นว่าการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติ เป็นการเสนอตามรัฐธรรมนูญ
จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวว่า หากใช้ข้อบังคับ 151 ก็สามารถอภิปรายต่อไปได้ แต่ต้องอภิปรายภายใต้ข้อบังคับ 151 เพื่อตีความข้อบังคับที่ 41 ที่นายอัครเดชเสนอ ดังนั้น ประธานจึงเสนอให้ใช้ข้อบังคับ 151 เพื่อตีความข้อบังคับที่ 41
และการประชุมรัฐสภา วาระเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงบ่ายที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม แจ้งให้ที่ประชุมอภิปรายต่อไป โดยนายอนุศักดิ์ คงมาลัย สว. อภิปรายว่าหากมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมจากครั้งที่แล้ว คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งถ้าดูตามข้อบังคับที่ 41 ก็ชัดเจนว่าไม่สามารถเสนอญัตติเดิมได้อีกแล้ว และไม่ต้องมีการตีความอะไรเพิ่มเติม
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ สส.พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้สมควรที่จะแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ญัตติ จึงไม่สามารถนำเข้าบังคับเข้าที่ 41 ของการประชุมรัฐสภา มาบังคับใช้ได้ เพราะการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 159 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 136 ในหมวด 9 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ระบุไว้ว่าให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภา และไม่ได้อยู่ในหมวดที่ 2 ของการประชุมรัฐสภาแต่อย่างใด โดยในหมวดที่ 2 มีการเขียนชัดเจนว่า การเสนอญัตติจะต้องทำอย่างไร ซึ่งในข้อ 41 ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นมาเสนอใหม่ ในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป
นายฐากร ยังกล่าวว่า หลักทั่วไปของกฎหมาย ในเมื่อกฎหมายใดกำหนดบทเฉพาะไว้อยู่แล้วไม่สามารถที่จะนำบทบัญญัติทั่วไปของกฎหมายมาบังคับใช้กับบทเฉพาะที่เขียนไว้อย่างชัดเจน ในหมวดที่ 9 ดังนั้น การเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนี้ไม่ใช่ญัตติ เพราะถ้าหากเป็นญัตติแล้วจะต้องเขียนในหมวดที่ 2 และอีกเหตุผลคือข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ไม่ได้เกี่ยวข้องกลับมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญและมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่อย่างใด ดังนั้น จะเสนอรายชื่อบุคคลดังกล่าวจำนวนกี่ครั้งก็ได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่ กกต. หรือรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ จนกว่าจะมีการสรรหานายกรัฐมนตรีได้ ส่วนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีและชื่อจึงเป็นญัตติ
ขณะที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่เห็นด้วยในการใช้ข้อบังคับข้อที่ 41 เพราะการเลือกนายกฯ ไม่ใช่ญัตติทั่วไปเป็นกระบวนการเฉพาะที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และหากตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่มีคำว่าจะติดแต่อย่างใด ในกรณีแบบนี้ควรตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และควรตีความตามบทบัญญัติของกฎหมายถ้ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ไม่ให้เสนอซ้ำต้องบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น ถ้าไม่มีข้อห้ามก็สามารถเสนอซ้ำได้ และยังเกรงว่าการลงมติในเรื่องนี้ อาจเป็นการการลงมติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการประชุมรัฐสภา ตัวเลขรวมของสมาชิกรัฐสภามีการลดลง จากเดิมมี 749 เป็น 748 คน.-สำนักข่าวไทย