กทม. 11 ก.พ.-นักวิชาการธรรมศาสตร์ หวังสภา ถกแก้ ม.256 เปิดช่องตั้ง สสร. ชี้รับหลักการไปก่อน ค่อยถกรายละเอียดต่อวาระสอง ลั่น ไม่มีเหตุผลให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญอีก เหตุคำวินิจฉัยชัดเจนแล้ว เผย อาจมีการปรับ ครม. หลักศึกซักฟอก
นายปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวันที่ 13-14 ก.พ.ว่า ความคาดหวังเบื้องต้น คือขอให้ผ่านการพิจารณาในวาระแรกไปก่อน เพราะวาระของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2563 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 26 ครั้ง โดยผ่านการพิจารณาเพียง 1 ครั้ง ส่วนตัวจึงมองว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวันที่ 13-14 ก.พ. นี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญ และใกล้เคียงที่สุดที่จะผ่านการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง สสร. เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 จากศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เพราะวรรคท้ายของคำวินิจฉัยที่ 4/2564 จากศาลรัฐธรรมนูญ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง” ซึ่งตามคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องลงประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง พร้อมทั้งยังระบุชัดเจนว่าเป็นอำนาจของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นอกจากนี้ เสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน จากทั้งหมด 9 คน มีคำวินิจฉัยส่วนตนว่าการทำประชามติตลอดกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ สามารถทำได้เพียง 2 ครั้ง รวมไปถึงความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่าง ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ยืนยันในทิศทางเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่เป็นเหตุผลให้ต้องมีประเด็นในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ ทั้งเรื่องของอำนาจรัฐสภา และจำนวนครั้งในการทำประชามติเหมือนที่ผ่านมาอีก เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นการยื่นเพื่อถ่วงเวลาหรือเป็นแทคติกเพื่อไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญได้ทันในสภาสมัยนี้
“ถ้าจะยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอีก ก็อาจจะไม่ง่าย เพราะต้องผ่านมติของรัฐสภา ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนปี 2564 ที่ค่อนข้างมีความชัดเจนมากว่าสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตอนนี้ ค่อนข้างโน้มเอียงและมีฉันทามติว่าจะให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เอาเข้าจริงๆแล้ว วันที่ 13-14 ก.พ.นี้ เป็นเพียงแค่การรับหลักการ โดยส่วนตัวคิดว่าควรรับไปก่อน และถ้ามีรายละเอียดที่จะต้องปรับ มันสามารถไปพูดคุยกันในชั้นกรรมาธิการได้ในวาระสอง” นายปุรวิชญ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อว่าจากการพูดคุยกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงนี้ นายปุรวิชญ์ กล่าวว่า โดยปกติแล้วการปรับ ครม. มักจะทำกันในช่วงหลังจากที่มีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งส่วนตัวคาดว่า ภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะถึงนี้ น่าจะมีการปรับ ครม. อีกครั้งเช่นกัน เพราะช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา เริ่มมีการปล่อยข่าวโผ ครม. ชุดใหม่มาตามพื้นที่สื่อ ซึ่งสะท้อนว่า เริ่มมีการเขย่าเก้าอี้กันอีกครั้ง และอาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้
สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะถูกซักฟอกปม ชั้น 14 หรือไม่ และพรรคเพื่อไทยจะเตรียมรับมืออย่างไร นายปุรวิชญ์ ให้ความเห็นว่า พรรคเพื่อไทย ก็คงจะเตรียมการรับมืออย่างเต็มที่ เพราะปมเรื่องชั้น 14 ได้รับการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เชื่อมั่นว่าพรรคประชาชน จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มกำลังเช่นกัน เพราะนี่คือพื้นที่ในการแสดงบทบาท และโชว์ผลงาน เพื่อเรียกความนิยมจากประชาชน ภายหลังจากที่กระแสพรรคเริ่มแผ่วลงอย่างชัดเจน นับตั้งแต่มีการยุบพรรคก้าวไกล.-319.-สำนักข่าวไทย