ม.รังสิต 18 มิ.ย. -นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมมหาวิทยาลัยรังสิตและผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย(สปท.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อให้สาขาพรรคและสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวผู้สมัคร หรือระบบไพรมารีโหวต เพราะตรงนี้เป็นหลักการสำคัญในการทำให้พรรคการเมืองคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิกและลดอิทธิพลการครอบงำของกลุ่มทุนในพรรคการเมือง แต่ในระยะแรกเริ่ม อาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่บ้าง เพราะนอกจากเป็นเรื่องใหม่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินเช่น สมาชิกและสาขามีฐานในพื้นที่กว้างหรือไม่ ถ้ามีแค่หัวคะแนนก็จะเลือกกันเองไม่เกิดการแข่งขันที่มีคุณภาพหรือโอกาสของคนเก่งคนดีแต่ไม่ถนัดทำงานการเมืองแบบเกาะติดพื้นที่ รวมทั้งการกำหนดให้ทุกพรรคต้องมีสาขาพรรคในทุกเขตเลือกตั้งจะทำทันทีในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ที่ต้องคิดกันต่อ หรือคณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจจะต้องมีความยืดหยุ่นในระยะเริ่มต้น เช่น กำหนดเป็นโซนพื้นที่ เป็นสัดส่วนร้อยละไม่ใช่พร้อมกันทั้งหมด ก็จะทำให้ระบบไพรมารีโหวตเกิดขึ้นได้จริงในระยะยาวอย่าลืมว่าประเทศที่นำระบบไพรมารี่โหวตมาใช้ก็ไม่ได้ทำกันในวันเดียว ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกที่สำคัญต้องสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองให้ประชาชนไม่ใช่เป็นแค่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น
“ผมเชื่อว่าในระยะยาวเมื่อพรรคการเมืองปรับตัวจะเป็นประโยชน์และนำไปสู่การปฏิรูปพรรคการเมืองทำให้พรรคเป็นสถาบันที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น และถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองต้องปรับตัวออกจากความเคยชินเก่าๆถึงเวลาเลือกตั้งก็วิ่งเต้นหอบเงินแลกกับการลงสมัครเขตนั้นเขตนี้และขออยู่บัญชีลำดับต้นๆ ทั้งนี้การปฎิรูปการเมืองมีราคาที่ทุกคนต้องจ่าย ต้องปรับตัว เสียสละกันบ้าง โดยเฉพาะนักการเมืองยิ่งต้องเสียสละมากกว่าคนอื่น”นายสุริยะใส กล่าว.-สำนักข่าวไทย