กรุงเทพฯ 30 มิ.ย.- สศอ. เผย ดัชนี MPI 5 เดือนแรก หดตัวจากปีก่อนร้อยละ 4.49 ขณะที่เฉพาะเดือน พ.ค. หดตัวร้อยละ 3.14 แต่โตจากเดือนเม.ย. ร้อยละ 14.23 คาด มิ.ย. “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง”
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 94.80 ลดลงร้อยละ 3.14 โดยเป็นการปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 60.20 และช่วง 5 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.04 ส่งผลให้ดัชนี MPI 5 เดือนแรก ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 96.36 ลดลงร้อยละ 4.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนี MPI เดือนพ.ค.จะยังหดตัว แต่เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 พบว่าขยายตัวร้อยละ14.23 เป็นการส่งสัญญาณชะลอการหดตัว จากปัจจัยการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลต่อความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีก เครื่องปรุงรส น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์นม สุรา ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และกาแฟ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นในประเภท แต่ทั้งนี้รายได้เกษตรกรหดตัว 8.97% เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน สะท้อนกำลังซื้อจากภาคเกษตรที่ยังคงเปราะบาง
สศอ. คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักอย่างประเทศจีนและญี่ปุ่นมีแนวโน้มการฟื้นตัว ขณะที่ยังมีปัจจัยลบคือ การส่งออกที่หดตัวเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ประกอบกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและงบประมาณปี 2567 อีกทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีโอกาสรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ยังต้องติดตามปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลทำให้ปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าค่าปกติ และมีผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร.-สำนักข่าวไทย