กรุงเทพฯ 18 มิ.ย. – สนข.ชี้แจง 4 ประเด็น หลังโดนวิจารณ์หนัก กรณีย้ายขนส่งหมอชิต 2 กลับหมอชิตเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังกระทรวงคมนาคมกำหนดแผนจัดการระบบขนส่งย่านพหลโยธินโดยเฉพาะสถานีขนส่งรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยกำหนดให้มีการย้ายจากพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชรกลับไปที่สถานีหมอชิตเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักจากภาควิชาการถึงความเหมาะสม เนื่องจากเรื่องดังกล่าวกระทบผู้โดยสารที่ใช้บริการเป็นวงกว้าง การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งระบบขนส่งบ่อยครั้ง และปัญหาจราจรระยะยาว
ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ชี้แจง 4 ประเด็นดังนี้ ประเด็นแรก ความคุ้มค่าการลงทุน พัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งการศึกษาและพัฒนาสถานีขนส่งต้องใช้งบประมาณและเวลาศึกษาค่อนข้างสูง หากนโยบายไม่ชัดเจนจะทำให้ใช้งบประมาณต้องปรับใหม่ทั้งหมด สนข.ขอชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการและวางแผนการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนให้มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางสะดวก รวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมากรมธนารักษ์ศึกษารูปแบบและการลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่หมอชิตเดิมเรียบร้อยแล้ว โดยผลการศึกษากำหนดให้มีข้อตกลงการออกแบบและจัดพื้นที่ภายในอาคารที่จะก่อสร้างใหม่ สำหรับกรมการขนส่งทางบก 110,000 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นสถานีรถโดยสารประจำทางระหว่าง กทม.กับจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ศูนย์พหลโยธินฯ สนข.จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ภายในบริเวณศูนย์พหลโยธินฯ อย่างชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนดำเนินงานด้วยแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องดำเนินการศึกษาเพิ่ม
ประเด็นที่ 2 ความสอดคล้องการวางแผนแม่บทการขนส่งและแผนการพัฒนาเมือง ควรพิจารณาถึงตำแหน่ง ทำเลที่ตั้ง ที่สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถโดยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงต้องสอดรับกับการวางผังเมืองกรุงเทพมหานคร สนข.ขอชี้แจงว่ากระทรวงคมนาคมวางแผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายของประชาชนในการเชื่อมต่อการเดินทางแต่ละรูปแบบการขนส่ง สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเมืองและความต้องการเดินทางของประชาชน เช่น พื้นที่โครงการหมอชิตเดิม กรมธนารักษ์วางแผนให้มีระบบเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกการเดินทางเชื่อมต่อการเดินทางด้วยแล้ว ประเด็นที่ 3 การรองรับปริมาณผู้โดยสารทั้งปัจจุบันและในอนาคต ในแง่ของทำเลที่ตั้งและขนาดของพื้นที่ ไม่ควรปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง ซึ่งจะสร้างความสับสนต่อผู้โดยสาร นักลงทุนและหน่วยราชการอื่น ๆ ในการเตรียมแผนรองรับ สนข.ขอชี้แจงว่าการกำหนดที่ตั้งของสถานีทั้งสถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟและสถานีรถไฟฟ้า โดยหลักการต้องคำนึงถึงความสะดวกและประชาชนสามารถเข้าถึงบริการระบบขนส่งได้อย่างสะดวก เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งคำนึงถึงขนาดของพื้นที่ที่ให้บริการและพื้นที่ใช้งานอย่างเหมาะสมและวางแผนสำหรับรองรับปริมาณความต้องการในอนาคตด้วย
ประเด็นที่ 4 ควรคำนึงถึงความชัดเจนและความสอดคล้องการวางแผนโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุขนาดใหญ่ของกรมธนารักษ์ด้วย โดยนโยบายของกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมควรมีความชัดเจน และสอดคล้องกัน และควรมีการเตรียมสาธารณูปโภครองรับ โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยบริหารจัดการ สนข.ขอชี้แจงว่ากรมธนารักษ์มีการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ใน กทม.ไม่มาก ได้แก่ ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีแผนแม่บทระบบรถไฟฟ้า 10 สาย สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่เมือง ทั้งนี้ จะเริ่มมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูบนถนนแจ้งวัฒนะผ่านศูนย์ราชการดังกล่าวปีนี้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุขนาดใหญ่ในอนาคตจะมีการบูรณาการและประสานระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง การบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ด้วย.-สำนักข่าวไทย