กรุงเทพฯ 24 มิ.ย. – สธ.-ภาคีเครือข่าย จัดตั้งหน่วยบริการ 4 สหาย 1.4 หมื่นแห่ง บำบัดผู้ติดยาเสพติดแล้วกว่า 1.8 แสนราย
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ/เอกชน และองค์กรการกุศล จัดตั้งหน่วยบริการ 4 สหาย ให้บริการคัดกรอง บำบัด ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด 14,033 แห่งทั่วประเทศ มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาแล้ว 182,721 ราย พร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านจิตเวชกว่า 50,000 คน รองรับการให้บริการ แนะครอบครัว คนใกล้ชิด สังเกต 5 สัญญาณเตือนผู้ป่วยจิตเวช “นอนไม่หลับ เดินไปมา พูดคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว และหวาดระแวง” พบโทรแจ้งสายด่วน 191 หรือ 1669 เพื่อนำเข้าสู่ระบบดูแลรักษาต่อไป
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนระบบบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดอย่างครบวงจร ผ่านหน่วยงาน 4 สหาย ได้แก่ ศูนย์คัดกรอง, สถานพยาบาลยาเสพติด, สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ซึ่งปัจจุบันจัดตั้งและขึ้นทะเบียนแล้ว 14,033 แห่ง แบ่งเป็น ศูนย์คัดกรอง 9,792 แห่ง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 6,617 แห่ง สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3,175 แห่ง, สถานพยาบาลยาเสพติด 1,078 แห่ง, สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 140 แห่ง (ภาครัฐ 88 แห่ง ภาคเอกชนและองค์กรการกุศล 52 แห่ง) และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม 3,023 แห่ง ตั้งเป้าบำบัดรักษาและลดอันตรายจากยาเสพติดทั่วประเทศ 132,602 ราย โดยข้อมูลล่าสุด (วันที่ 16 มิถุนายน 2566) ให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดแล้ว 182,721 ราย แยกเป็น หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 92,360 ราย และหน่วยบริการของภาคีเครือข่าย 90,361 ราย
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังได้พัฒนาพื้นที่ต้นแบบด้านการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ใน 30 จังหวัด โดยมอบหมายให้กรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข นิเทศติดตามให้คำแนะนำการดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้ทั้ง 30 จังหวัด มีการจัดตั้งศูนย์คัดกรองครอบคลุมทุกตำบล มีการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชน และจัดทำแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยในจังหวัดอย่างไร้รอยต่อ พร้อมทั้งฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะและแผนเสมือนจริงในการจัดการผู้ป่วยกรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น และเตรียมขยายผลให้ครอบคลุมทุกจังหวัด พร้อมกันนี้ ได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรในหลักสูตรต่างๆ เพื่อรองรับการให้บริการ รวม 52,120 คน โดยในเดือนมิถุนายนนี้ จะจัดฝึกอบรมระยะสั้นให้กับแพทย์และพยาบาลวิชาชีพทั้ง 13 เขตสุขภาพ และภาคีเครือข่ายเพิ่มเติมด้วย
“ปัญหาจิตเวชและยาเสพติด ครอบครัว คนใกล้ชิด และชุมชน มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสอดส่องดูแล เฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปเสพและก่อความรุนแรงซ้ำ รวมถึงสังเกต 5 สัญญาณอันตราย คือ นอนไม่หลับ เดินไปมา พูดคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว และหวาดระแวง ซึ่งหากพบว่ามีอาการดังกล่าว ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 191 หรือ 1669 เพื่อนำเข้าสู่ระบบดูแลต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว. – สำนักข่าวไทย