กรุงเทพฯ 22 มิ.ย.-EXIM BANK จับมือกรมการค้าต่างประเทศ ปปง. ยกระดับป้องกันสินค้าส่วนประกอบอาวุธทำลายล้างสูง ลดความขัดแย้งโลกยุคใหม่
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ และกรรมการ EXIM BANK และนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามการแพร่ขยายอาวุธมีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction : WMD) เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติต่อการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
หลังจากประเทศไทย ได้รับผลการประเมินด้านประสิทธิผลเรื่องการกำกับ ตรวจสอบ และการดำเนินมาตรการเพื่อป้องกัน WMD ในระดับต่ำ ประเทศไทยจึงมีเป้าหมายยกระดับ รองรับผลการประเมินครั้งต่อไปในปี 2569 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ให้อยู่ในระดับดีขึ้น เพื่อให้ผู้ส่งออกปรับตัวรองรับต้นทุนการค้า การส่งออกอาจสูงขึ้น เพราะประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศเริ่มกำหนด เงื่อนไขกีดกันทางค้ารูปแบบใหม่เข้มงวดมากขึ้น อย่างเช่น CBAM ของยุโรป เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเริ่มบังคับใช้ในอีก 29 เดือนข้างหน้า กฎเกณฑ์ใหม่ๆอีกหลายด้าน เริ่มตามมา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทย จึงต้องทำตามคู่มือการปฏิบัติงานด้าน AML/CFT/WMD อย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) เนื่องจากปัจจุบันอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลมีปริมาณลดลง และกำลังถูกแทนที่ด้วยอาวุธทันสมัยดัดแปลงมาจากสิ่งที่พลเรือนใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้การควบคุมอาวุธระหว่างประเทศถูกรวมไปถึง การควบคุมการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการนำเอาวัสดุที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ มาปรับใช้เป็นอาวุธในการก่อการร้ายมากขึ้น อาทิ การนำส่วนประกอบของปุ๋ยมาใช้เป็นวัตถุในการผลิตระเบิด การใช้แก๊สบางชนิดในการก่อวินาศกรรม และการนำเอาวัสดุไทเทเนียมในหัวไม้กอล์ฟมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตจรวดหรือขีปนาวุธ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นานาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศ และรองรับการประเมินของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force: FATF) ในปี 2569 จึงต้ตองสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคการเงิน การธนาคาร และภาคเอกชนของไทย
ยอมรับว่า สินค้าหลากหลายประเภท ทั้งยา เคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบการผลิตอาวุธร้ายแรงได้ เมื่อโลกยุคใหม่ หลายภูมิภาคเริ่มมีความขัดแย้ง จึงใช้วัสดุจากสินค้าในชีวิตประจำวัน ไปใช้ผลิตอาวุธร้ายแรงได้ เวทีนานาชาติ จึงเริ่มวางข้อกำหนดเพิ่มเติมในการค้าขายร่วมกัน หากภาคเอกชนไม่ปรับตัว จะทำให้ต้นทุนการส่งออก นำเข้าเพิ่มสูงขึ้น.-สำนักข่าวไทย