กรุงเทพฯ 13 มิ.ย.- รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานให้พร้อมรับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ตลอดจนวางแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวเพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญที่จะต่อเนื่องถึงเดือน ก.พ. 67 อธิบดีกรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำนา แล้วใช้น้ำชลประทานเสริม ย้ำเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและฝนอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมทุกด้านเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานดำเนินงานมาตรการรับมือฝนทิ้งช่วง ปี 2566 ตามที่กำหนดไว้ ตลอดจนเตรียมพร้อมรองรับสภาวะเอลนีโญตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2566 และต่อเนื่องจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ทั้งนี้เน้นย้ำให้กรมชลประทานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่จะได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง ทั้งการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำซึ่งคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและช่วยเหลือประชาชน คู่ขนานไปกับการสร้างการรับรู้ให้กับเครือข่ายภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้เน้นย้ำโครงการชลประทานทั่วประเทศให้ติดตามสถานการณ์น้ำและฝนอย่างใกล้ชิดตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพร้อมรับมือฝนทิ้งช่วงที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนนี้ รวมถึงภาวะเอลนีโญที่จะเกิดต่อเนื่องจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งทำให้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5 นอกจากนี้กรมชลประทานยังดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) อย่างเคร่งครัด เพื่อรองรับอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในบ้างพื้นที่ได้เช่นกัน
สำหรับการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงนั้น ได้ให้โครงการชลประทานทั่วประเทศประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรให้ทยอยเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมและควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผน เตรียมความพร้อมส่งน้ำแบบประณีตตามรอบเวรแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการใช้ในทุกภาค รวมถึงให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสูบน้ำตามรอบเวรอย่างเคร่งครัด เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำ จำนวน 5,382 หน่วยเพื่อพร้อมสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนโดยทันที ดังเช่นในต้นเดือนมิถุนายนได้ระดมช่วยเหลือสวนทุเรียนในจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพรที่ฝนตกน้อย จนกระทั่วผลผลิตทุเรียนที่กำลังจะตัดขายได้พ้นวิกฤติแล้ว นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีน้ำสำรองไว้ใช้มากที่สุด
นายประพิศกล่าวย้ำว่า กรมชลประทานให้ความสำคัญต่อการเก็บกักน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ แก้มลิงและระบบชลประทานให้ได้มากที่สุด โดยจะบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนวางแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวเพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ครอบคลุมทุกกิจกรรม.-สำนักข่าวไทย