ทำเนียบรัฐบาล 12 มิ.ย.-เลขาฯ สมช.ประชุมหน่วยงานมั่นคง ชี้การทำประชามติแยกปัตตานีเป็นเอกราชผิดกม. สั่งตรวจสอบพร้อมลงโทษทุกระดับไม่เว้นนักการเมือง
พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เปิดเผยภายหลังเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์หลังจากที่ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราช เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า ได้รับรายงานความคืบหน้าภายหลังจากที่ได้ติดตามกรณีดังกล่าว ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 2 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และตำรวจภูธรภาค 9 กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเนื้อหาสาระของกิจกรรมในวันนั้นมีด้านใดบ้าง กิจกรรมในวันนั้นและการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย มีประเด็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเรื่องใดบ้าง ทั้งคำพูดและข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการประกาศทำประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช ซึ่งเรื่องนี้ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนและผิดกฎหมาย ดังนั้น ต้องสืบสวนสอบสวน ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังพิจารณาในรายละเอียดว่าใครอยู่เบื้องหน้า เบื้องหลัง ผู้เกี่ยวข้อง ข้อมูลข้อเท็จจริง ทั้งที่ออกมาเปิดเผยทางโซเชียล เปิดเผยต่อสังคม ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร
“ที่ประชุมได้สรุปสองส่วนคือให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินไปตามขั้นตอนอย่างเปิดเผย ยุติธรรม ชัดเจน ซึ่งจะต้องตรวจสอบว่าทำผิดหรือไม่ผิด และดำเนินการทางกฎหมายเท่าที่จำเป็น ยอมรับว่าสิ่งที่กังวลคือสิ่งที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาสันติสุข ระดับตำบล และอีกหลายกลไกรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาโดยตลอด” เลขาธิการสมช. กล่าว
พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ส่วนที่สองคือดำเนินการตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเน้นย้ำเรื่องการสร้างความเข้าใจ กับประชาชนในพื้นที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นผิดกฎหมาย การดำเนินการทุกอย่างจะต้องถูกกฎหมาย โดยต้องใช้ทุกมิติพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชน และเตรียมสรุปรายงาน เสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป แม้ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่ได้รายงาน เบื้องต้นว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปในด้านใดบ้างแล้ว
ส่วนที่มีการดำเนินการในลักษณะรุกคืบและรุนแรงขึ้นในช่วงนี้ เลขาธฺการสมช. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่มีฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้วว่ามีโยงใยฝ่ายไหนที่เกี่ยวข้องและเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลพยายามสร้างความเข้าใจมาโดยตลอดว่ามีเหตุผล ความจำเป็นอย่างไร ต้องการให้ประชาชนสามจังหวัดชายแดนจังหวัดใต้อยู่ดีกินดี ปลอดภัยภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพยายามตอบสนองความต้องการของประชาชนมาโดยตลอด แม้ว่าบางกลุ่มมีความคิดแตกต่าง ก็อธิบายให้เกิดความเข้าใจว่าผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมาเป็นอย่างไร
“เชื่อว่าทุกคนทราบอยู่แล้วมีนักการเมืองคนใดเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ขอให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ และอยู่ในผลการสอบสวนอยู่แล้วว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง” พล.อ.สุพจน์ กล่าว
ส่วนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งมีพรรคการเมืองเสนอนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสมช. กล่าวว่า การหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาค่อนข้างสุดโต่งและแรงในหลายเรื่อง ทำให้สภาความมั่นคงแห่งชาติมีข้อกังวล ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น แม้กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่ได้รับรองส.ส. ฝ่ายการเมืองก็เคลื่อนไหวโดยพยายามจะพูดถึงนโยบายที่จะทำต่อไป โดยหลังการหาเสียงนโยบายเหล่านั้นกลับนุ่มนวลลง และสอดคล้องกับที่ภาครัฐทำอยู่ สอดคล้องกับข้อมูลเดิมที่มี แต่หลายสิ่งต้องนำข้อมูลเดิมที่ทำผิดกฎหมายมาเชื่อมโยงและพิจารณา
ส่วนสภาความมั่นคงแห่งชาติจะเอาผิดพรรคการเมืองได้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้และยังไม่ได้พูดคุยกับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่หาเสียงนโยบายดังกล่าวไว้ ยืนยันว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องภายในประเทศ ไม่มีต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงหรือสนับสนุน แต่ไม่ได้ตัดประเด็นนี้ออกไป เพราะทุกวันนี้การแก้ปัญหาในพื้นที่ได้พูดคุยระดับนโยบายกับองค์กรต่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
“องค์กรต่างประเทศ ถ้าจะลงพื้นที่ต้องแจ้งกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศจะหารือกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ หากประเมินแล้วไม่กระทบต่อความมั่นคงในประเทศจะประสานไปยังศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ซึ่งรับผิดชอบให้ไปดูแล พูดคุยกับองค์กรเหล่านั้น” เลขาธิการสมช. กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าหลังจากนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีจะจัดกิจกรรมประกาศเจตนารมณ์ในลักษณะนี้ได้อีกหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ต้องดูที่เจตนาข้อมูลผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าผิดกฎหมายทำไม่ได้ ซึ่งกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ายังไม่ได้รายงานความผิด แต่เรื่องการทำประชามติแยกเอกราชผิดกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ส่วนจะผิดกฏหมายอื่น ๆ อีกหรือไม่ ต้องไปดูพฤติกรรม หลักฐาน และสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ารับผิดชอบดำเนินการโดยจะเชิญกระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการให้ข้อเสนอแนะ
ส่วนกรณีพรรคการเมืองที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว แต่ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบ เลขาธิการสมช. กล่าวว่า เมื่อมีความผิดก็ต้องดำเนินการตามกฏหมาย ขณะที่มหาวิทยาลัยจะต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่นั้น เห็นว่าเมื่อพิจารณาแล้วเป็นกิจกรรมวิชาการตามปกติ แต่กลับเกิดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงขึ้น ดังนั้น ต้องตรวจสอบและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น ส่วนการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกคือต้องทำความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ตามกฏหมาย
เมื่อถามว่าฝ่ายความมั่นคงเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดการตอบโต้ สร้างความรุนแรงขึ้นในพื้นที่อย่างไร พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ประชาชนเข้าใจว่าความคิดของรัฐบาลจะไปต่อสู้หรือปิดกั้นความคิด แต่ต้องดูบริบทในพื้นที่ว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีบางเรื่องที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาแนวทางให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป อีกทั้งชื่อว่าเดินทางมาในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว มีความพยายามสร้างความสงบและไม่ก่อเหตุร้ายในพื้นที่ แม้จะเกิดอยู่บ้างก็ตาม
“รัฐบาลต้องการพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมี สาธารณนูปโภคพื้นฐาน ดี มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ มีความพยายามพูดคุยกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง มาโดยตลอด และยกระดับพูดคุยกว้างขวางมากขึ้นทุกภาคส่วนและทุกกลุ่มไม่ใช่แค่กลุ่มบีอาร์เอ็น รวมถึงเชิญนักการเมือง ผู้ที่เป็นแกนนำมาพูดคุย ทำความเข้าใจและช่วยกันแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่เกิดขึ้นก็ไม่เกินคาดที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินไว้ และที่ผ่านมาก็มีกิจกรรมที่น่ากังวลเกิดขึ้น ซึ่งมาจากการสนับสนุนให้ประชาชนได้แสดงออกถึงความคิดเห็น ความต้องการและแสดงจุดยืนต่าง ๆ ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ทำได้ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้มีเจตนากดขี่ บังคับ มองทุกคนคือคนไทย แต่สิ่งใดที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ และสร้างความเข้าใจต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดการทำผิดกฏหมาย” พล.อ.สุพจน์ กล่าว
เลขาธิการสมช. กล่าวว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ทำงานลำบาก สภาความมั่นคงแห่งชาติมีหน้าที่ชัดเจน มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลแผนงาน ปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อม ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตั้งนำเสนอข้อมูล โดยฝ่ายความมั่นคง ทำงานตามบทบาท ตามหน้าที่และกฏหมาย
ส่วนฝ่ายความมั่นคงประเมินสถานการณ์หลังการเลือกตั้งอย่างไร พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ได้ประเมิน สถานการณ์กรณีที่ต้องระมัดระวัง เลวร้ายที่สุดหรือ worst -case เช่น อาจจะเกิดความขัดแย้งทางการเมือง มีการชุมนุม การก่อความไม่สงบ เรื่องนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของ สภาความมั่นคงแห่งชาติที่จะต้องเตรียมพร้อมไว้อย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ต้องมีความพร้อม หากออกมาชุมนุมโดยสงบก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องดูแลให้เกิดความปลอดภัยกับทุกฝ่าย แต่ถ้าเกิดก่อเหตุรันแรงและเหตุร้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าไปจัดการ ป้องกัน ยุติ ระงับยับยั้ง
ส่วนกรณีนายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎรโพสต์ระดมมวลชนร่วมชุมนุมกดดันให้สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสมช.กล่าวว่า ขณะนี้ทางการข่าวยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง พล.อ.สุพจน์ กล่าวฝากถึงประชาชน ว่า หน่วยงานความมั่นคงเคยพูดหลายครั้ง ประเทศไทยจะเดินหน้าทุกมิติ ราบรื่น คือการมีรัฐบาลที่มั่นคง ไม่มีเหตุ มีความสงบจะเป็นที่มั่นใจให้กับภาคเศรษฐกิจ ดังนั้น ถ้าทุกอย่างเดินหน้าตามกรอบกฎหมาย ประเทศไทยจะไปได้ดี.-สำนักข่าวไทย