รร.โนโวเทล ประตูน้ำ 8 มิ.ย.- “วิษณุ” แจงระเบียบกักกันฯ ของกรมราชทัณฑ์ ไม่เอื้อ “ทักษิณ” ชี้ เป็นกฎหมายที่เตรียมออกมานานแล้ว วอนอย่านำไปโยงทางการเมือง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน 2566 ว่า ในกฎหมายไทย มีโทษอยู่ 5 อย่างคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และ ริบทรัพย์สิน โดยการลงโทษแบบกักกันไม่ได้อยู่ในกฎหมายนี้ แต่เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าวิธีการเพื่อความปลอดภัย และไม่ใช่โทษ แต่ติดปัญหาที่ว่าการกักกันจะใช้พื้นที่ไหน กรมราชทัณฑ์จึงได้มีการออกระเบียบดังกล่าวออกมาใช้ ในกรณีเช่นเด็กและเยาวชน ศาลสั่งกักกัน จะที่บ้านกับผู้ปกครองได้ ซึ่งหลักการมีแค่นี้ แต่หลายคนเอาเรื่องนี้ไปโยงกับโทษ ที่นักโทษกลับเข้ามามอบตัว แล้วเอาไปกักกันที่บ้าน ซึ่งเป็นคนละอย่างกัน ใช้กับเรื่องนี้ไม่ได้ เนื่องจากถูกลงโทษไม่ใช่ถูกกักกัน
ส่วนที่ราชกิจจาประกาศระเบียบดังกล่าวออกมาใช้มีการโยง ในประเด็นอื่นๆ นายวิษณุ ชี้แจงว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ติดขัดปัญหาหลายอย่าง จึงเพิ่งประกาศใช้ ซึ่งเรื่องนี้นำไปโยงในทางที่ไม่ถูก เช่น กรณีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจใหญ่โตมโหฬารปลดนายกฯ ได้ มีตนเองและ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้มีการตั้งมานานแล้ว แต่ไม่มีอำนาจไปปลดใครได้ ข้อสำคัญคือนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ขณะเดียวกันเรื่องนี้ถูกโยงไปถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับประเทศ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเอามาโยงกัน เพราะตนเองเคยให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้ว่า นโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถ้ามีโทษให้ไปรับโทษ โดยกักตัวที่บ้านได้นั้นยังไม่มีระเบียบออกมา ขณะนี้มีเพียงกฎกระทรวงที่ออกมาแล้ว เมื่อปี 2552 สมัยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สำหรับที่ถูกขัง 3 ประเภท ให้เปลี่ยนไปขังที่บ้านได้ คือ
- คนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน
- คนที่ถูกศาลสั่งจำคุกและรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3
- หญิงมีครรภ์ที่ศาลสั่งประหารชีวิต แต่ยังไม่คลอด จึงต้องไปขังไปไว้ก่อน โดยจะไปขังที่บ้านหรือโรงพยาบาลก็ได้
จึงย้ำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกัน ประกาศนี้ควรจะออกมา 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ แต่เพิ่งดำเนินการเสร็จจึงออกมาในช่วงนี้
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีการขอพระราชทานอภัยโทษของนักโทษทางการเมือง ว่า จะนักโทษการเมืองหรือไม่ใช่นักโทษการเมืองก็ตาม ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมดในการขอพระราชทานอภัยโทษ ขอเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าถูกยกคำขอ อีก 2 ปีจึงจะขอใหม่ได้ ซึ่งเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัว แต่หากขอพระราชทานอภัยโทษแบบครอบจักรวาล คือการออกพระราชกฤษฎีกาแล้วกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา ซึ่งในเรื่องนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกา ซึ่งอาจจะมีในปีหน้าตอนช่วงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา แต่ย้ำว่า ผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ จะต้องรับโทษก่อน จึงจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ และการขอพระราชทานอภัยโทษจะใช้เวลาเท่าไหร่ก็แล้วแต่กระบวนการ และไม่มีเวลากำหนดว่าจะต้องรับโทษจำนวนเท่าไหร่ เรื่องนี้เป็นพระราชอำนาจไม่มีกำหนด แต่หากการของพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา มีเกณฑ์คือรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี.-สำนักข่าวไทย