ม.ธรรมศาสตร์ 25 พ.ค. – อ.ปริญญา แนะก้าวไกล – เพื่อไทย เจรจาข้อยุติ คนพรรคใด นั่งประธานสภาฯ แนะ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นทางเลือกใหม่ หากไม่เป็นคนของทั้ง 2 พรรค
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อถกเถียงถึงความเหมาะสม กรณีนายกรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎร ควรมาจากพรรคการเมืองเดียวกันหรือไม่ ว่า ไม่ได้มีหลักการหรือข้อห้ามอะไร เข้าใจว่าสิ่งที่พูดกันขณะนี้คือเรื่องระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย
ซึ่งอยากชี้ว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีความชัดเจนว่าประชาชนเลือกอดีตพรรคฝ่ายค้าน เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจหรือเลือกระหว่างฝั่งประชาธิปไตยและฝั่งเผด็จการ ดังนั้นจึงอยากให้ทางพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เร่งเจรจาหาข้อตกลงกันเพราะประชาชนดูอยู่ และคงไม่พอใจ หากมีภาพของการแย่งชิงตำแหน่งเกิดขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับเรื่องดังกล่าว มองว่าทางออกมีอยู่ 3 ทาง คือ ทางพรรคเพื่อไทยยอมพรรคก้าวไกล โดยต้องยอมรับว่าตลอดเวลาที่ผ่านมามีข่าวที่อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ เช่น ข่าวการยุบพรรคพรรคพลังประชารัฐ และให้ ส.ส. ย้ายเข้าพรรคเพื่อไทย เป็นต้น ขณะที่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็มีความสำคัญในการควบคุมเกม ในการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเสนอกฎหมายต่างๆ จึงเป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลต้องการคนของตัวเองเป็นประธานรัฐสภา
ทางออกที่สอง คือ กรณีพรรคก้าวไกลยอมให้พรรคเพื่อไทย เพราะได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และพรรคเพื่อไทยต้องการตำแหน่งทางนิติบัญญัติ ก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยอาจมี MOU ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยว่าหากเป็นรัฐบาลก็เป็นด้วยกัน หากเป็นฝ่ายค้านก็เป็นด้วยกัน หากมีการยืนยันเช่นนี้ก็อาจทำให้ความหวาดระแวงต่างๆ หมดไป และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นคนของพรรคเพื่อไทยได้
อย่างไรก็ตาม นายปริญญา ระบุ อาจมีอีกหนึ่งทางเลือก คือไม่ใช่คนของทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แต่อาจเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เช่น พรรคประชาชาติและให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งเคยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้
“ผมพูดตรงนี้ก็เป็นเพียงแค่การคิดนะ เดี๋ยวจะกลายเป็นประเด็นพาดหัว ว่าผมเสนอชื่ออาจารย์วันนอร์ ผมคิดว่าเป็นเรื่องระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่ควรต้องจบลงด้วยการเจรจาและพูดคุยกันจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา ยังระบุว่า เหตุการณ์ประธานสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนชื่อนายกรัฐมนตรีจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกเหมือนสมัย นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีการเปลี่ยนชื่อพลอากาศเอกสมบุญ ระหงส์ เป็นนายอานันท์ ปันยารชุน เนื่องจากขณะนั้นไม่มีข้อกำหนดหรือรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการโหวตของสมาชิกรัฐสภา แต่ปัจจุบัน มีบทบัญญัติว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการโหวตของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นที่มาที่ให้ ส.ว. มีอำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรี
“รัฐธรรมนูญปัจจุบัน กำหนดที่มานายกรัฐมนตรีชัดเจน และเต็มไปด้วยกับระเบิด และข้อจำกัดต่างๆ ที่แฝงอยู่ จึงเป็นที่มาที่หลายพรรคการเมืองแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น” นายปริญญา กล่าว.-สำนักข่าวไทย