มะนิลา 2 พ.ย.- รัฐบาลประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์จะเริ่มปฏิรูปการจ้างงานด้วยการห้ามจ้างงานชั่วคราว เพราะทำให้คนไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงานและสวัสดิการ อีกทั้งยังเป็นการเหยียบย่ำสิทธิคนทำงาน
ปัจจุบันมีชาวฟิลิปปินส์ทำงานตามสัญญาจ้างระยะสั้นราว 28 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 70 ของแรงงานทั้งประเทศ รัฐบาลเตรียมแก้ไขกฎหมายแรงงาน หลังจากประธานาธิบดีดูเตอร์เตเตือนหลังรับตำแหน่งได้ไม่นานให้นายจ้างยุติการจ้างงานชั่วคราว ไม่เช่นนั้นจะถูกปิดบริษัท แต่นายจ้างแย้งว่า จะทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ส่งผลให้ต้องจ้างงานคนน้อยลงและจะทำให้นักลงทุนไม่อยากเข้ามาลงทุนในประเทศ ประธานสมาพันธ์นายจ้างฟิลิปปินส์ขู่จะฟ้องศาลหากรัฐบาลบังคับให้ทุกบริษัทบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานเต็มตัว เพราะไม่มีที่ใดในโลกทำเช่นนี้ นายจ้างบางรายติงว่า มาตรการนี้จะทำให้เศรษฐกิจประเทศชะลอการเติบโต จากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 7 ในไตรมาสสองของปีนี้ ถือว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
กฎหมายฟิลิปปินส์ปี 2532 อนุญาตให้นายจ้างจ้างงานชั่วคราวในช่วงที่ต้องเร่งผลิต สัญญาจ้างชั่วคราวมักมีอายุไม่เกิน 5 เดือน เพราะหากถึง 6 เดือนนายจ้างจะต้องบรรจุเป็นพนักงานเต็มตัว ต่อมาปี 2554 กรมแรงงานอนุญาตให้บริษัทใช้บริษัทสัญญาจ้างทำงานระยะสั้น ส่งผลให้ธุรกิจใช้แรงงานสูงอย่างค้าปลีกและการผลิตจ้างลูกจ้างชั่วคราวอย่างแพร่หลาย ประธานาธิบดีดูเตอร์เตประกาศจะลดจำนวนลูกจ้างชั่วคราวลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในสิ้นปีนี้ และจะไม่ให้มีอีกต่อไปในปีหน้า ปัจจจุบันมีร่างกฎหมายปฏิรูปแรงงานจำนวนมากตกค้างอยู่ในรัฐสภา และยังไม่มีร่างใดผ่านความเห็นชอบ.- สำนักข่าวไทย