กรุงเทพฯ 22 พ.ค.-สภาพัฒน์ เตรียมหารือ 4 หน่วยงาน ถกแผนงบประมาณแบบฐานศูนย์ รองรับ MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล ยอมรับ “รัฐสวัสดิการ” พุ่งเป้าตรงกลุ่มเป้าหมายด้อยโอกาส
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า หลังจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาล เตรียมจัดทำ MOU ปฏิรูปการจัดทำระบบงบประมาณใหม่ (ฐานศูนย์) ZBB. : Zero-Based Budgeting เป็นแนวคิดแตกต่างจากเดิม จึงเตรียมหารือกับ 4 หน่วยงานหลักในการจัดทำงบประมาณ คือ สภาพัฒน์ คลัง ธปท. สำนักงบประมาณ ในส่วนของสภาพัฒน์ ต้องเร่งศึกษาหาข้อมูล รองรับการจัดทำประมาณแบบฐานศูนย์ (ZBB) เพราะประเทศไทย ยังไม่เคยจัดทำงบแบบนี้มาก่อน
ยอมรับว่า งบจ่ายประจำปี 67 ล่าช้าจากเตรียมการเลือกตั้ง จึงต้องเร่งจัดทำงบให้แล้วเสร็จ เพื่ออัดฉีดเงินออกสู่ระบบไปก่อน ส่วนการจัดทำประมาณแบบฐานศูนย์ (ZBB) อาจต้องเริ่มจัดทำได้ในงบปี 68-69 และต้องทบทวนโครงการทุก 5 ปี 10 ปี เพราะหากจัดสรรงบประมาณไปให้หน่วยงานแล้ว ไม่เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นต้องทบทวนใหม่ ไม่ใช่จัดสรรเพิ่มเติมให้ทุกปี ส่วนโครงการใดใส่เม็ดเงินเข้าไปแล้วเกิดประโยชน์ต้องจัดสรรต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้งบประมาณ ทั้ง 4 หน่วยงานจัดทำงบประมาณ จึงต้องศึกษาหาข้อมูลมาวางแผนเยอะมาก โดยเฉพาะการศึกษาผลดี ผลเสีย ผลสำเร็จจากบางประเทศ จัดทำงบประมาณในลักษณะดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ ZBB. : Zero-Based Budgeting คือการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความคุ้มค่า ไม่ได้อ้างอิงฐานงบประมาณ (Baseline) ของปีก่อนหน้าซึ่งได้จัดสรรไป นับว่าแตกต่างจากการจัดสรรงบประมาณแบบดั้งเดิม อาจปรับแต่งงบประมาณเพิ่มเติม แต่ยังคงยึดตามฐานงบประมาณของปีที่ผ่าน ทำให้ข้อบกพร่องจากการจัดสรรงบของปีที่ผ่านมา การจัดทำงบประมาณแบบ ZBB เริ่มจากฐานศูนย์ ในทุกเเผนงานเเละนโยบาย ต้องพิจารณางบใหม่ทั้งหมดอย่างละเอียด จัดสรรให้ตามความสำคัญของนโยบายเเละสถานการณ์ในขณะนั้น
การจัดการงบประมาณแบบแผนโครงการ (PPBS) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero Based Budgeting) นับว่ามีข้อดีและข้อเสีย แตกต่างกัน โดยการจัดการงบประมาณแบแผนโครงการ (PPBS) มุ่งเน้นแผนงานให้เกิดความต่อเนื่อง ด้วยการวางแผนระยะยาว เเต่มีปัญหาการประเมินผลงานขาดความเป็นระบบ เกิดความล่าช้า ไม่บรรลุของวัตถุประสงค์ในการจัดสรรงบประมาณ ส่วน Zero Based Budgeting เน้นแก้ปัญหาข้อจำกัดทางทรัพยากร โดยไม่นำงบประมาณค่าใช้จ่ายในปีที่ผ่านมากลับมาพิจารณา นับว่ามีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม ต้องทำการวิเคราะห์ใหม่ทุกปี
นายดนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดการจัดทำงบประมาณแบบรัฐสวัสดิการ สำประเทศไทยอาจมีข้อจำกัด เพราะฐานภาษีต่ำ ยื่นแบบเสียภาษี 10-11 ล้านคน แต่จ่ายภาษีเพียง 4 ล้านคน แตกต่างจากยุโรปหลายประเทศ จ่ายภาษีสูงมาก จึงมีงบประมาณนำมาเป็นสวัสดิการให้ในช่วงวัยชรา หรือ ตกงาน หากไทยต้องการจัดสรรงบประมาณแบบสวัสดิการ ต้องช่วยเหลือตรงกลุ่มเป้าหมาย ที่มีปัญหา ด้อยโอกาส จากนั้นเข้าไปพัฒนาจนดีขึ้น ผ่านพ้นปัญหา และยืนอยู่ด้วยตนเองได้ในระยะยาว
สำหรับนโยบายการปรับเพิ่มค่าแรง ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะส่งผลหลายด้าน กระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เมื่อนักลงทุนเทียบค่าแรงกับประเทศอื่น ไทยจึงต้องพัฒนาทักษะแรงงานเพิ่ม ควรกำหนดค่าแรงงานขั้นต่ำ ต้องพิจารณาสถานการณ์ของประเทศให้เหมาะสม ควรกำหนดค่าแรงในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันตามความเจริญ ค่าครองชีพ ท้ายที่สุดต้องขึ้นอยู่กับการหารือของคณะกรรมการไตรภาคี คือ นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล หากเพิ่มค่าจ้าง นักศึกษาจบปริญญาตรี ในส่วนภาครัฐ ต้องจัดตั้งงบประมาณใหม่ทั้งหมด อาจกระทบฐานะทางการคลังและส่งผลไปยังบริษัทเอกชน กระทบต้นทุนไปยังราคาสินค้าเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง .-สำนักข่าวไทย