รัฐสภา 9 มิ.ย.- สนช.ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง วาระ 3 ด้วยคะแนนเสียง 177 ต่อ 1 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมาย สำหรับ มาตรา 70 ที่ประชุมมีมติด้วยคะแนน 161 ต่อ 15 งดออกเสียง 12 เสียง ให้กกต.ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง แต่ให้ปฎิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีกกต.ชุดใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันนี้ (9 มิ.ย.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง วาระ 2และ 3 ที่ประชุมได้อภิปรายสอบถาม การดำรงอยู่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน ตามมาตรา 70 ที่กรรมาธิการ ปรับแก้ ให้ ประธานกกต.และกกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พ.ร.ป.นี้บังคับใช้ พ้นจากตำแหน่ง แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าประธานกกต.และกกต.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งแตกต่างจากร่างเดิม ที่ กรธ.กำหนดให้ กกต.ที่ขาดคุณสมบัติ พ้นจากตำแหน่ง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ กมธ. เสียงข้างน้อย ยืนยันให้คงร่างเดิม เพราะหากอยากให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ ควรมีคนที่มีประสบการณ์ มีประสิทธิภาพ มีความรู้ เข้าใจเรื่องการเลือกตั้ง ก็ควรจะมีคนเดิมทำหน้าที่ต่อเพื่อให้ภารกิจลุล่วง โดยเฉพาะคนที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้สูงแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ให้อยู่ต่อ
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมรา กมธ.เสียงข้างน้อยแปรญัตติให้กกต.ชุดเดิมอยู่ต่อทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานและคุณสมบัติใหม่หมด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวในการทำงาน
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า กกต.ชุดปัจจุบันมาถูกต้องตามแนวทาง ทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลังทั้งหมดเพื่อมาทำงาน แล้ววันดีคืนดีกลับให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีสนช.อีกหลายคนที่เป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้อภิปราย โดยให้เหตุผลว่า ที่ให้กกต.อยู่ต่อนั้น ได้พิจารณาตามหลักความเป็นธรรม และอยากทราบเหตุผลว่าเหตุใดจึงเซ็ตซีโร่ กกต.ชุดนี้ และกรรมการในองค์กรอิสระอื่นจะรีเซ็ตด้วยหรือไม่ หากไม่รีเซ็ตจะชี้แจงอย่างไร
นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่าไม่ได้ติดใจว่ากกต.จะอยู่ต่อหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือภารกิจที่สำคัญคือการปฏิรูปการเมือง ซึ่งหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการเมืองคือกระบวนการบริหารจัดการเลือกตั้ง ที่ผ่านมากระบวนการเลือกตั้งมีปัญหาที่สะสมมานาน ซึ่งกมธ.ได้เชิญนักวิจัย และคนที่ศึกษาเรื่องนี้ พบว่าปัญหาใหญ่คือ กกต. ในอดีตถูกร้องเรียนว่าถูกครอบงำจากอิทธิพลทางการเมือง ไม่มีอำนาจการบริหารการเลือกตั้ง และตามรัฐธรรมนูญระบุว่า กกต.จะอยู่หรือไม่ ให้เป็นไปตามหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทางกมธ.ฯจึงตัดสินใจ บนประโยชน์ประเทศชาติ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกระบวนการบริหารจัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญใหม่ให้อำนาจกกต.ในการสั่งให้ ปปง. ธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถอายัดธุรกรรมทางการเงิน พรรคการเมือง ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทำผิดได้ทันที ซึ่งถ้ากลไกแบบเดิมทำไม่ได้ และกลไกที่เป็นกระบวนการทำงานในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีกกต.จังหวัด มีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เป็นเสมือนสายสืบ และมีอำนาจเหมือนกกต. ดังนั้นด้วยกลไก ด้วยอำนาจหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงให้มีกลไกใหม่ คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่จึงจะปฏิรูปการเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“ด้วยกลไก ด้วยโครงสร้าง ด้วยอำนาจหน้าที่ที่เปลี่ยนไป กรรมาธิการฯ ก็ถกกันมาหลายวัน ที่เขียนมามันไม่พอ เราคิดสำหรับประเทศเป็นใหญ่ เราจะทำเล็ก ๆ มาคำนึงถึงเรื่องเล็ก ๆ เราปฏิรูปไม่ได้ เลยได้ความว่าให้กลไกใหม่ ที่ต้องมาใช้อำนาจใหม่ คนใหม่ มาใช้อำนาจที่ยิ่งใหญ่นี้ให้มีพลังและสามารถปฏิรูปกระบวนการจัดการเลือกตั้งได้”นายตวง กล่าว
ขณะที่นายภัทระ คำพิทักษ์ กมธ.ในสัดส่วนกรธ. ยืนยันว่าที่กรธ.ปรับแก้ให้เซ็ตซีโร่กกต.ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งใคร แต่เป็นไปตามคำปรารภของรัฐธรรมนูญที่สมควรให้การปฏิรูปประเทศ และกรธ.ตั้งใจจะเซ็ตซีโร่กกต.ตั้งแต่แรกแล้ว แต่เห็นว่าการให้ผู้ที่ขาดคุณสมบัติพ้นจากตำแหน่งในตอนแรก เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด ในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ ด้วยคะแนนเสียง 161 ต่อ 15 งดออกเสียง 12 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมงในการพิจารณา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบวาระ 3 และเห็นสมควรให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 177 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง .-สำนักข่าวไทย