นิด้า 20 เม.ย.- นักวิชาการ เรียกร้อง พรรคการเมือง ชูนโยบายสิ่งแวดล้อม แก้น้ำท่วม พายุ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เริ่มรุนแรงมากขึ้น อย่าปล่อยให้ ลูกหลาน…ตาย…ผ่อนส่ง
นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในเวทีสัมนา “นโยบายส่ิงแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ ควรมีในสนามเลือกตั้ง2566 ว่า ภัยพิบัติทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุ มีความเสี่ยงเกิดได้ในยุคปัจจุบัน รวมทั้งปัญหาฝุ่น PM 2.5 เร่ิมรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลชุดใหม่ต้องเตรียมรับมือจากภัยพิบัติเหล่านี้ ยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้ยิ่งใหญ่มาก แต่กลับถูกกำหนดนโยบายเอาไว้บรรทัดหลังสุดของนโยบายหาเสียงของพรรคต่างๆ
ปัญหาโลกร้อนคืบคลานเข้ามา จากบทเรียนในอดีต น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ปัญหาสึนามิในจังหวัดภูเก็ต พังงา บทเรียนดังกล่าวราคาแพงมาก ต้องใช้งบประมาณเยียวยามหาศาล และต้องสูญเสียชีวิตอีกมากมาย ในต่างประเทศเกิดเหตุแผ่นดินไหว พายุหิมะในประเทศที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่ จึงต้องมีนโยบายออกมากป้องกันและส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 มองว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องเร่งแก้ไขและป้องกัน
นายวีรชัย พุทธวงศ์ นักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ และควรดึงหลายหน่วยงานมาร่วมแก้ปัญหาและป้องกัน อย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดกลับถูกตีตกไปในสภา นับว่าการเมืองไทยมีปัญหาต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน มาร่วมกันป้องกันปัญหาภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ปัญหาฝุ่น ภัยแล้ง ล้วนเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเกิดปัญหาจะใช้งบประมาณฟื้นฟูสูงมาก
นายกนก วงษ์ตระหว่าน ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การเตรียมตัวรองรับปัญหาเคมีรั่วไหล เมื่อเกิดแล้วชุมชนต้องดูแลตัวเองอย่างไร จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานย่านลาดกระบัง ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างมาก อีกทั้งปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขณะนี้ทำให้หลายครัวเรือนทั่วโลกเสียชีวิต 6.5 หมื่นคนต่อปี นับว่ายอดเสียชีวิตหนักมาก จึงเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามนโยบายรัฐบาลให้เข้าสู่ Net Zero การฟื้นฟูชุมชนหลังเหตุภัยพิบัติต่างๆ การตั้งกองทุน 5 หมื่นบาท – 1 แสนล้านบาท มาใช้ในการชดเชยดูแล การตั้งเป้าหมายลดการใช้ถทานหิน และน้ำมัน ในการผลิตกระแสไฟฟ้า กำหนดการใช้พลังงานสะอาดสัดส่วนสูงขึ้น ปฏิรูปกการผลิตอาหารใหม่ การตั้ง APEC รับซื้อคาร์บอนเครดิต การสร้างตลาดซื้อขายคาร์บอนด์ จากการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้มากขึ้น
นายปลอดประสพ สุรัสวดี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ต้องมีกระบวนการตรวจสอบความสะอาดคุณภาพอากาศ ต้องมีพนักงานอากาศสะอาดคอยติดตามดูแล ผู้ใดทำให้อากาศเป็นพิษอากาศเสียต้องลงโทษทางอาญา ต้องควบคุมต้นตออากาศเสีย เช่น เผาไร่ข้าวโพด สวน ต้องกำหนดโทษให้ชัดเจน ต้องนำระบบการเกษตรที่ดีมาใช้กับผู้ประกอบการในประเทศ ต้องมีมาตรการแทรกแซง หากใครทำให้เกิดผลเสียต่อส่ิงแวดล้อมการนำข้อตกลงระหว่างประเทศ ป้องกันปัญหาฝุ่นกับประเทศตามแนวชายแดน ภาครัฐควรมีแผนลดมลพิษ ควบคุมแหล่งกำเนิดเสียงของเสีย ส่วนราชการกำกับดูแลต้องมีอำนาจควบคุม ลงโทษ เพื่อแก้ปัญหาเบร็ดเสร็จ ตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทยพร้อมผลักดันอย่างเต็มที่
น.ต. ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การเกิดฝน แผ่นดินข้างล่างต้องชุ่มชื้น เมื่อความอุดมสมบูรณ์น้อยลง จึงมีฝนตกน้อยลง ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยอมรับว่าหนักมาก คนเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ป่วยจากระบบทางเดินหายใจ 2 ล้านคน หากรักษา 10,000 บาทต่อคน ต้องใช้เงินรักษา 20,000 ล้านบาทต่อปี การปลูกข้าวโพดในเชียงใหม่ 5 ล้านไร่ แต่ยังมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 8 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรต้องเผาซังเข้าโพดและปลูกเพิ่มขึ้น จึงต้องหาทางดูแลการปลูกข้าวโพด ด้วยการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายเดชรัต สุขกำเนิด พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกล พร้อมร่วมกับหลายพรรคการเมือง แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมภายใน 100 วันแรกที่เข้าสภา จะเร่งเสนอกฎหมาย และแนวทางแก้ปัญหา เพื่อควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร เพราะปัจจุบันยังเผาแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายผังเมือง การควบคุมดูแลการลักลอบทิ้งขยะพิษจากภาคอุตสาหกรรม การลักลอบทิ้งขยะนอกพื้นที่เขตเมือง
นพ.วรงศ์ เดชกิจวิกรม พรรคไทยภักดี กล่าวว่า ต้องหาแนวทางปฏิรูปโครงสร้างพลังงานไทย ด้วยการเปิดเสรีการรับซื้อพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลม โซล่าเซลล์ โรงไฟฟ้าชุมชนจากพืชเกษตร อย่างเสรี เพื่อลดการใช้น้ำมันจากฟอสซิล เนื่องจากรัฐบาลรับซื้อน้ำมันราคาแพง 9.7 บาทต่อหน่วย แต่มาขายไฟฟ้าให้ชาวบ้าน 4.7 บาทต่อหน่วย จึงทำให้ กฟผ.ขาดทุนนับแสนล้านบาท จึงต้องก้าวข้ามจากพลังงานฟอสซิลเปลี่ยนมาเป็นพืชพลังงาน เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร และลดปัญหาฝุ่นควัน.-สำนักข่าวไทย