กรุงเทพฯ 7 เม.ย.- กรมควบคุมมลพิษ เตือนประชาชนภาคเหนือเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดติดชายแดน ที่ยังวิกฤติจากหมอกควันข้ามแดน GISTDA เผยพบจุดความร้อนเป็นจำนวนมากต่อเนื่องทั้งลาว เมียนมา และไทย ส่งผล 3 ประเทศหารือแก้หมอกควันข้ามแดน ทั้งระดับผู้นำและเจ้าหน้าที่อาวุโสวันนี้
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยระบุว่า มีแนวโน้มที่ควรเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านจนถึงวันที่ 14 เมษายน แม้หลังวันที่ 8 เมษายนสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้นทำให้สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง แต่อาจได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนเนื่องจากยังคงพบจุดความร้อนเป็นจำนวนมากทั้งในลาว เมียนมา และไทย
ทั้งนี้ สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ
GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 6 เมษายน 2566 พบจุดความร้อนในลาวมากที่สุด 9,653 จุด เมียนมา 7,161 จุด ส่วนไทยพบ 3,280 จุด ส่วนเวียดนาม 1,516 จุด กัมพูชา 767 และมาเลเซีย 17 จุด
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย ยังคงพบในพื้นป่าอนุรักษ์มากที่สุดถึง 1,951 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 879 จุด พื้นที่เกษตร 191 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 129 จุด พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 122 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 8 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ เชียงใหม่ 320 จุด เชียงราย 289 จุด, และแม่ฮ่องสอน 281 จุด
ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 เช้าวันนี้ ทางภาคเหนือยังคงน่าเป็นห่วงมาก แอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” แสดงข้อมูลเมื่อเวลา 09:00 น. ที่ผ่านมาพบหลายจังหวัดมีค่า PM2.5 อยู่ในระดับสีแดงและมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน เชียงใหม่ และพะเยาที่มีค่า PM 2.5 สูงสุดกว่า 300 ไมโครกรัม หรือกว่า 6 เท่าของเกณฑ์ค่ามาตรฐาน ตามด้วยลำพูน ลำปาง หนองคาย เลย และแพร่
ขณะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้ พบค่าคุณภาพอากาศส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง และคาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนเป็นต้นไปสถานการณ์ยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสภาพอากาศที่เปิดมากขึ้น เพดานการลอยตัวอากาศที่สูงขึ้น ประกอบกับลมทางใต้ที่กำลังแรงช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ แต่วันที่ 14 เมษายน อาจมีสภาพอากาศที่ปิดได้ในบางพื้นที่ จึงควรเพิ่มการเฝ้าระวัง
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 7 เมษายน 2566 ณ 07:00 น. พบค่า PM2.5 ในประเทศเกินค่ามาตรฐานใน 38 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ราชบุรี จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ชัยภูมิ และจ. อุบลราชธานี
ผลการตรวจวัดตามรายภาคมีดังนี้
– ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 62 – 411 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 35 – 218 มคก./ลบ.ม.
– ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 42 – 75 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 21 – 41 มคก./ลบ.ม.
– ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 11 – 24 มคก./ลบ.ม.
– กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐาน 22 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 33 – 88 มคก./ลบ.ม.
ในวันนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมระดับผู้นำเพื่อหารือกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในการยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างประเทศ สืบเนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าในปีนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย และแนวชายแดน และมีผลต่อค่าฝุ่น PM2.5 ประกอบกับการคาดการณ์สภาพอากาศยังไม่มีแนวโน้มการเกิดฝนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2566 ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องหารือร่วมมือแก้ไขปัญหา
ในช่วงบ่าย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่างไทย ลาว และเมียนมา เพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนร่วมกัน 3 ประเทศ โดยมีกรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยงานกลางประสานการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเป็นเลขานุการฝ่ายไทยในการกำหนดกรอบเจรจา เพื่อสร้างความร่วมมือแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนของภูมิภาค.-สำนักข่าวไทย