นนทบุรี 30 มี.ค.-พาณิชย์เผยยอดตัวเลขส่งออกเดือนก.พ.66 ยังหดตัวที่ 4.7 % ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่ยังได้ตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ ขยายตัวเป็นบวกที่ 1-2% แม้หลายหน่วยงานมองส่งออกไทยปีนี้ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกแต่ภาครัฐจะร่วมมือภาคส่งออกเร่งขยายตลาดใหม่ๆให้มากขึ้นไดเต่อไป
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวพาณิชย์ รายงานตัวเลขการส่งออกของไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่า มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดลบ 4.7% เนื่องจากสินค้าส่งออกหลายกลุ่มมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยในกลุ่มสินค้าเกษตรขยายตัว 1.5 % อุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว5.6% และสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 6.2% จากปัญหาภาวะอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังสูงอยู่ ทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มเติมรวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยด้วยอีกทั้งภาคการผลิตโลกยังหดตัวส่งผลให้ยอดส่งออกสินค้าทั้งเคมีภัณฑ์และเครื่องจักรกลไม่เพิ่มขึ้นมากนัก จึงเป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย
ขณะที่ ตัวเลขการนำเข้าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 66 มีมูลค่าอยู่ทีี 23,489.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.1% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนก.พ.66 ติดลบอยู่ที่ 1,113.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหากดูยอดการส่งออก 2 เดือนแรกของปี 66 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ. โดยยอดส่งออก 2 เดือนอยู่ที่ 42,625.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดการนำเข้าอยู่ที่ 48,388.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 2 เดือนทั้งสิ้น 5,763.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ หากดูกลุ่มสินค้าไทยที่ยังส่งออกได้ดี เช่น ข้าวขยาย 7.7% ทุเรียนสดขยายตัว 1,182.3 % ผลิตภัฑณ์มันสำปะหลังขยายตัว 5.2% ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งขยายตัว 61.6 % รวมถึงรถยนต์และส่วนประกอบยังได้รับการตอบรับที่ดีและมีทิศทางกลับมาดีขึ้นขยายตัว 15.7 % กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัว 81.7% โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวสูงสุด ได้แก่ซาอุดีอาระเบียขยายตัวอยู่ที่ 56.2 % รองลงมา บรูไนขยายตัว 45.2 % ฮ่องกงขยายตัว 28.6% แอฟริกาขยายตัว 22.2% และอื่นๆเป็นต้น
ทั้งนี้ แม้แนวโน้มการส่งออกของไทย ยังคงได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก และภาวะเงินเฟ้อสูงในประเทศคู่ค้ายังสูงอยู่ รวมถึงบรรยากาศตึงเครียดของสงคราม 2 รัสเซียและยูเครน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ แต่กระทรวงพาณิชย์ มีแผนส่งเสริมการส่งออกตลอดทั้งปี 2566 รวมกว่า 450 กิจกรรมมุ่งเน้นในตลาดศักยภาพ ทั้งตะวันออกกลาง เอเชียใต้ CLMV และจีน รวมไปถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคเอกชน จึงมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปีนี้ จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายการทำงาน (working target) ที่ตั้งไว้ 1-2% เป็นต้น โดยคาดว่าการส่งออกไตรมาสแรกปี 66 จะหดตัวประมาณ 6-8% และจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆกลับมาเป็นบวกประมาณช่วงกลางปี ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าตัวเลขส่งออก 10 เดือนที่เหลือปีนี้เฉลี่ยต่อเดือนจะอยู่ที่24,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่าการส่งออกชายแดนและผ่านแดน135,137 ล้านบาท ลดลง 0.34% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกผ่านแดนไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน (+25.89%) คิดเป็นมูลค่า 11,015 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 135,137 ล้านบาท ลดลง 0.34% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 72,901 ล้านบาท ลดลง 6.17% และการนำเข้ามูลค่า 62,236 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.48% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทั้งสิ้น 10,665 ล้านบาท
ทั้งนี้ การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 82,180 ล้านบาท ลดลง 6.60% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 49,309 ล้านบาท ลดลง 7.45% และการนำเข้ามูลค่า 32,871 ล้านบาท ลดลง 5.29% โดยมาเลเซีย มูลค่าส่งออก 13,185 ล้านบาท (-11.65%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางข้น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อื่นๆ และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ขณะที่ สปป.ลาว มูลค่าส่งออก 12,903 ล้านบาท (-5.32%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซลน้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และน้ำตาลทรายขาว
ส่วนเมียนมา มูลค่าส่งออก 11,438 ล้านบาท (-3.35%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำสำเร็จรูปอื่น ๆ และน้ำมันปาล์ม กัมพูชา มูลค่าส่งออก 11,783 ล้านบาท (-8.62%) สินค้าสำคัญได้แก่ รถยนต์ เครื่องดื่มอื่นๆ และรถปิคอัพ รถบัส และรถบรรทุก
ขณะที่การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่ารวม 52,957 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.24% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 23,592 ล้านบาท ลดลง 3.36% และการนำเข้ามูลค่า 29,365 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.61% โดยจีนยังเป็นตลาดส่งออกหลัก จีนมูลค่าส่งออก 11,015 ล้านบาท (+25.89%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และน้ำยางข้น
ขณะที่ สิงคโปร์ มูลค่าส่งออก 3,279 ล้านบาท (-17.35%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อื่นๆ และแผงวงจรไฟฟ้า เวียดนาม มูลค่าส่งออก 3,283 ล้านบาท (-5.34%) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ น้ำแร่น้ำอัดลมที่ปรุงรส และส่วนประกอบและอุปกรณ์ อื่นๆและประเทศอื่น ๆ (เช่น ฮ่องกง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) มูลค่าส่งออก 6,015 ล้านบาท (-26.89%)
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิ การผลักดันเปิดจุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้าภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย ณ วันที่ 21 มีนาคม 2566 มีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิด 87 แห่ง จากทั้งหมด97 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 74 แห่ง (สถานะคงเดิมตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566)
การดำเนินโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก โดยร่วมมือกับ EXIM Bank และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการค้าชายแดน ซึ่ง ณ วันที่ 17 มีนาคม 2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อ 1,510 ราย วงเงินรวม 6,339.2 ล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 1,476 ราย วงเงินรวม 6,202.3 ล้านบาทเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย