กรุงเทพฯ 24 มี.ค.-จับตา 11 เม.ย.ครบกำหนด กรมธนารักษ์ระบุให้อีสท์ วอเตอร์ ส่งคืนพื้นที่และทรัพย์สินโครงการท่อน้ำภาคตะวันออกจะเกิดปัญหาน้ำขาดแคลนทั้งภาคอุตสาหกรรม อุปโภค บริโภคหรือไม่
นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก(EASTW) แถลงว่า ตามที่กรมธนารักษ์ ได้ส่งหนังสือการบอกเลิกการเช่า/บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2 โดยหนังสือที่กรมธนารักษ์แจ้งมา ระบุให้อีสท์ วอเตอร์ ส่งคืนพื้นที่และทรัพย์สินในโครงการดังกล่าวให้แก่กรมธนารักษ์ ภายในวันที่ 11 เม.ย. 66 หากไม่ดำเนินการกรมธนารักษ์จะสงวนสิทธิ์ให้อีสท์ วอเตอร์ ปฏิบัติตามระเบียบที่บังคับใช้ ณ ปัจจุบัน และอนาคต พร้อมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่อีสท์ วอเตอร์ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนดนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มี.ค. อีสท์ วอเตอร์ ได้ส่งหนังสือส่งให้แก่อธิบดีกรมธนารักษ์ เรื่องการโต้แย้งการบอกเลิกการเช่า/บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ – แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) การเรียกให้ส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินแก่กรมธนารักษ์ และการเรียกค่าเสียหาย พร้อมแจ้งข้อเสนอของอีสท์ วอเตอร์ เพื่อลดกระทบต่อผู้ใช้น้ำให้แก่กรมธนารักษ์ไปแล้ว รวมทั้งกำลังพิจารณาช่อทางตามกฏหมายว่าจะสามารถโต้แย้งอื่นๆได้หรือไม่
นายเชิดชาย ยืนยันว่า บริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินงานส่งมอบท่อส่งน้ำสายหลัก ตามที่กรมธนารักษ์ร้องขอมา แต่หากก่อนถึงกำหนดวันส่งมอบ (11 เม.ย.) ไม่มีแผนงานการส่งมอบ- รับมอบโครงการที่ชัดเจนร่วมกันระหว่างอีสท์ วอเตอร์ กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการรายใหม่ อาจจะทำให้ผลกระทบตกอยู่กับผู้ใช้น้ำได้ ดังนั้น ย้ำว่าต้องคำนึงถึงผู้ใช้น้ำเป็นหลัก โดยการเจรจา 6 ครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ข้อสรุป ทั้งเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ปัญหาเรื่องการส่งน้ำ และการใช้ไฟฟ้า ซึ่งหากไม่มีการวางแผนการส่งมอบที่ชัดเจน ก็จะกระทบต่อผู้ใช้น้ำทั้งภาคอุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค ซึ่งรวมถึงประชาชน ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยวและอื่นๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่บ่อวิน ปลวกแดง ของ จ.ชลบุรี และพื้นที่บริเวณมาบตาพุด จ.ระยอง กว่า 10 นิคมฯ และโรงงานในพื้นที่มีเป้นจำนวนมาก
“ยืนยันว่าเราพร้อมส่งมอบพื้นที่ แต่เราขอให้มีการพูดคุย และมีการแสดงความพร้อมของทั้งผู้รับ ผู้ส่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้น้ำว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ บริษัทฯ ได้เตรียมแผนส่งมอบไว้เรียบร้อยแล้ว และยังหวังว่าน่าจะหาข้อสรุปร่วมกันได้ก่อนวันที่ 11 เม.ย. แต่หากไม่มีข้อยุติร่วมกันที่ชัดเจน ก็จะต้องแจ้งไปยังผู้ใช้น้ำว่าอาจจะได้รับผลกระทบ” นายเชิดชาย กล่าว
ทั้งนี้ ด้านทรัพย์สินที่จะส่งมอบ หากต้องส่งมอบในวันที่ 11 เมษายน 2566 โดยไม่มีแผนการส่งมอบ – รับมอบโครงการทั้งสองอย่างเป็นขั้นตอน อาจส่งผลกระทบดังนี้
• ผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะผู้ใช้น้ำบริเวณพื้นที่ ปลวกแดง ซึ่งมีการส่งจ่ายน้ำ 210,000 ลบ.ม. ต่อวัน และผู้ใช้น้ำตามแนวท่อหนองปลาไหล – มาบตาพุด – สัตหีบ อีก 300,000 ลบ.ม. ต่อวัน
• พื้นที่ทับซ้อน เนื่องจากมีทรัพย์สินของ อีสท์ วอเตอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกให้เป็น Water Grid ตามมติครม. เช่น มิเตอร์ ปั๊มน้ำ เครื่องสูบน้ำ สถานีสูบ ระบบ SCADA ที่ใช้ควบคุมแรงดันน้ำจากระยะไกล ในส่วนพื้นที่บางส่วนซึ่งต้องส่งมอบคืนให้แก่กรมธนารักษ์ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปเป็นที่ชัดเจนในการใช้พื้นที่ร่วมกัน
นายเชิดชาย กล่าวว่า กรมธนารักษ์ควรตรวจสอบว่าเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกสามารถเริ่มการดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างถูกกฎหมายได้ทันทีหลังการส่งมอบโครงการหรือไม่ มิฉะนั้น ผู้ใช้น้ำอาจได้รับน้ำที่มีการสูบจ่ายโดยไม่ถูกต้องโดยบริษัทยังยืนยันจะเร่งรัดการดำเนินการพัฒนาทั้งด้านการวางท่อและแหล่งน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อให้กลับมาเป็นWater Grid ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยอีกครั้ง ที่ผ่านมา มีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และมีการลงทุนเพิ่มเติมในด้านต่างๆ อาทิ สถานีสูบน้ำ ท่อเชื่อมโยง ช่วยภาครัฐประหยัดงบประมาณในการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะนี้มีการดำเนินงานการก่อสร้าง ทั้งนี้ยอมรับว่า หากมีการส่งมอบโครงการแก่กรมธนารักษ์แล้วก็จะกระทบต่อรายได้บริษัทราว ร้อยละ30 .-สำนักข่าวไทย