วอชิงตัน 23 มี.ค. – จรวดที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติลำแรกของโลก ทะยานขึ้นท้องฟ้าจากแท่นปล่อยได้สำเร็จเมื่อวานนี้ ซึ่งนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของบริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศที่อยู่เบื้องหลักนวัตกรรมด้านยานอากาศ แม้ว่าจรวดจะเดินทางไปไม่ถึงวงโคจรก็ตาม
จรวด เทอร์แรน 1 ที่ไม่มีมนุษย์เดินทางไปด้วย ถูกปล่อยจากแท่นปล่อยจรวดที่แหลมคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดา ในเวลา 23.25 น. ของวันพุธตามเวลาท้องถิ่น หรือ ตรงกับ 10.25 น. วันนี้ตามเวลาในประเทศไทย แต่จรวดประสบปัญหาในระหว่าวการแยกตัวขั้นที่ 2 ทำให้ไปไม่ถึงวงโคจรตามที่กำหนดไว้ได้ บริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ชื่อ “รีเลทิวิตี้ สเปซ” (Relativity Space) ซึ่งเป็นผู้สร้างจรวดลำนี้ ซึ่งไลฟ์สดการปล่อยจรวด ยังไม่ได้ให้ข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติมถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็พบว่า จรวดซึ่งสร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติประมาณร้อยละ 85 สามารถทนทานกับสภาพขณะที่ขึ้นจากแท่นปล่อยจรวดได้
ความสำเร็จดังกล่าวเป็นความพยายามปล่อยจรวดครั้งที 3 โดยครั้งแรกมีกำหนดจะปล่อยจรวดในวันที่ 8 มีนาคม แต่เลื่อนออกไปในนาทีสุดท้ายเนื่องจากพบปัญหาที่อุณหภูมิของตัวขับเคลี่อน ครั้งที่ 2 กำหนดจะปล่อยจรวดในวันที่ 11 มีนาคม แต่ต้องยกเลิกเนื่องจากมีปัญหาที่แรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง หากจรวดสามารถเดินทางไปถึงวงโคจรระดับต่ำของโลกได้ จะถือเป็นยานพาหนะของเอกชนลำแรกของโลกที่ใช้เชื้อเพลิงแก๊สมีเทนที่ทำสำเร็จในความพยายามครั้งแรก สำหรับเทอร์แรน 1 จะยังไม่บรรทุกดาวเทียมในการบินเที่ยวแรกนี้ จรวดลำนี้มีความยาว 33.5 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.2 เมตร.-สำนักข่าวไทย