20 มี.ค. – ตำรวจไซเบอร์พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์ชี้แจงกรณีตำรวจไซเบอร์พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ดังนี้
ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้มีการประกาศเผยแพร่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 มี.ค.66 ที่ผ่านมานั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินผ่านการหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ และเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวให้ลดน้อยลง หรือหมดสิ้นไปโดยเร็ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์พร้อมปฏิบัติหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกและความยุติธรรมให้กับประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบรับจ้างการเปิดบัญชีธนาคาร และปัญหาการครอบครองหมายเลขโทรศัพท์ โดยได้ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันวางมาตรการในการป้องกันปราบปราม คุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพโดยเร็ว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมประเภทดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยับยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรไซเบอร์
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการเร่งรัดปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร และใช้หมายเลขโทรศัพท์ รวมถึงเป็นธุระจัดหา หรือโฆษณา มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป รวมถึงกำชับให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ และดำเนินการตามกฎหมาย ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ พ.ร.ก. ดังกล่าว มีประเด็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติ และประเด็นที่ประชานควรรับทราบ ดังต่อไปนี้
1.เมื่อประชาชนถูกหลอกลวง หรือสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ (มาตรา 7, 8) ให้รีบดำเนินการแจ้งธนาคาร หรือสถาบันการเงินผ่านหมายเลขศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพทันที เพื่อเป็นการยับยั้งการทำธุรกรรมการเงินที่ต้องสงสัย หรือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดชั่วคราว จากนั้นให้เร่งดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจได้ทุกท้องที่ทั่วประเทศ หรือพนักงานสอบสวน บช.สอท. ไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดที่ใดในราชอาณาจักรก็ตาม หรือแจ้งผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com ภายในระยะเวลา 72 ชม. เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งหมายอายัดเงินในบัญชีให้กับสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจ ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องทุกข์ โดยให้ถือว่าการร้องทุกข์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว
2.กำหนดให้มีระบบการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูล (มาตรา 4, 5) ระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ (กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์) และระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม หรือผู้ให้บริการอื่น โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีอำนาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการรับจ้างเปิดบัญชีเงินฝาก การครอบครองหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถระบุผู้ใช้บริการได้ ป้องกันมิจฉาชีพเข้าถึงประชาชนในช่องทางต่างๆ และช่วยเหลือ ยับยั้ง ติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
3.บทกำหนดความผิดและกำหนดโทษ (มาตรา 9, 10, 11) ผู้ใดเปิด หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าว เพื่อให้มีการซื้อขายบัญชีเงินฝาก มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี-5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดเป็นธุระ จัดหา โฆษณา หรือไขข่าว เพื่อให้มีการซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี-5 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.การเปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคล ตาม พ.ร.ก.นี้ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่จะเปิดเผยให้ผู้อื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ได้ (มาตรา 12)
5.พระราชกำหนดนี้บังคับใช้ในวาระแรกเริ่ม 5 ปี โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งให้คำแนะนำ และคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ (มาตรา 13)
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดัน และวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของการหลอกลวงออนไลน์ของอาชญากรไซเบอร์ ซึ่งมีทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน การยับยั้งการทำธุรกรรมการเงิน และมีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้ปัญหาภัยจากอาชญากรรมออนไลน์ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีนัยยะที่สำคัญ. -สำนักข่าวไทย