กรุงเทพฯ 25 พ.ค. – กรมเชื้อเพลิงฯ เร่งปรับทีโออาร์ประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช เพื่อเอื้อรายใหม่เข้ามาแข่งขันนอกเหนือ “เชฟรอน-ปตท.สผ.” แต่จะเน้นสร้างความมั่นคงพลังงาน หลังเกิดสภาวะวิกฤติ เพราะเปิดประมูลล่าช้า ยืนยันการจัดรับฟังความเห็นกฎหมายลูกเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ กำลังเตรียมกำหนดร่างเงื่อนไขการประมูลสัมปทานที่หมดอายุปี 2565-2566 (แหล่งเอราวัณ-แหล่งบงกช) เพื่อเตรียมพร้อมรอ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมมีผลบังคับใช้ โดยหลักเกณฑ์ขณะนี้จะดูว่าทำอย่างไรไม่ให้ยากเกินไป จนรายใหม่ไม่ต้องการร่วมประมูล โดยสิ่งสำคัญ คือ จะต้องกำหนดปริมาณขึ้นต่ำในการผลิต อย่างน้อย 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมคาดว่าปริมาณในช่วงก่อนหมดอายุสัมปทาน 3 ปี อาจจะลดลงจาก 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นอกจากนี้ จะมีการกำหนดราคาจำหน่ายราคาที่แข่งขันได้กับราคานำเข้าแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว ซึ่งอาจจะกำหนดระยะเวลาว่าหากเป็นรายใหม่เข้ามาประมูลนอกเหนือจากเจ้าเดิม คือ เชฟรอนฯ และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) อาจจะให้เวลา 2-3 ปี ต้องผลิตให้ได้ปริมาณขั้นต่ำที่กำหนด
“ขณะนี้แม้จะมีรายใหม่ เช่น จีน ตะวันออกกลาง ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูล แต่หากกำหนดทีโออาร์ยากเกินไปก็อาจจะไม่จูงใจให้เข้าร่วม แต่ต้องกำหนดปริมาณขั้นต่ำและราคาให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศ โดยยอมรับการประมูลล่าช้าทำให้เกิดสภาวะวิกฤติก๊าซฯ หายไปประมาณ 2 ล้านตัน/ปีในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งกระทรวงฯ กำลังบริหารให้ผ่านพ้นไปด้วยดี” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมมีผลบังคับใช้และกฎหมายลูกทั้งหมดผ่านความเห็นชอบก็น่าจะเปิดทีโออาร์ได้ช้าสุดต้นเดือนสิงหาคมนี้และคัดเลือกผู้ชนะได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งรูปแบบการประมูลทางกรมฯ จะเสนอทั้งระบบสัมปทาน, ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบรับจ้างผลิต (เอสซี) โดยจะมีเหตุผลประกอบข้อดีข้อเสียทั้งหมด ซึ่งสุดท้ายขึ้นอยู่กับ ครม.จะตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางใด
นายวีระศักดิ์ ยังยืนยันด้วยว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นกฎหมายลูก แม้กฎหมายแม่ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ยังไม่มีผลบังคับใช้นั้น เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) คงเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าดำเนินการไม่ได้ โดยตามรัฐธรรมนูญกฎหมายลูกไม่ต้องจัดรับฟังความคิดเห็น แต่การที่กรมฯ จัดรับฟังก็เพื่อขอฟังความคิดเห็นให้รอบด้านมากที่สุด
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงฯ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ สำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ….2. ร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ..และ 3.ร่างกฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ…ทาง เว็บไซต์ www.dmf.go.th ระหว่างวันที่ 11 – 26 พฤษภาคม 2560 ก่อนที่จะนำไปสรุปและนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยลำดับ
ด้าน คปพ.ได้ยื่นหนังสือผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ในวันนี้ (25 พ.ค.)เดินทางมายังกระทรวงพลังงานยื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมาย 3 ฉบับดังกล่าว ตั้งข้อสังเกตอาจขัดหลักการรัฐธรรมนูญและชี้ด้วยว่าเงื่อนไขระบบแบ่งปันผลผลิตไม่แตกต่างจากระบบสัมปทาน ซึ่งอาจจะเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานรายเดิม.-สำนักข่าวไทย