ภูเก็ต 12 มี.ค.- เจ้าหน้าที่บุกจับแพร้านอาหาร 2 แห่ง ที่อ่าวสะปำ จ.ภูเก็ต ขายเมนูเปิบพิสดาร ปลาไหลมอเรย์ เจอของกลางปลาสวยงามห้ามครอบครองเพียบ
หลังจากมีผู้ใช้ TikTok รายหนึ่งโพสต์คลิปเมนู “เปิบพิสดาร ปลาไหลมอเรย์” แพร้านอาหารทะเลภายในอ่าวสะปำ ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต เป็นลักษณะแพกลางทะเล โดยจะรับซื้ออาหารทะเลสด ๆ จากชาวประมงมาประกอบอาหาร และพบว่ามีปลาไหลมอเรย์ รวมอยู่ด้วย โดยในคลิปทางร้านระบุว่า ปลาไหลมอเรย์ สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนู โดยเฉพาะนึ่งซีอิ๊วกับทอดกระเทียม จากนั้นนักรีวิวอาหารได้ตกลงซื้อปลาดังกล่าวในราคา 700 บาท เพื่อนำไปทอดกระเทียมและนึ่งซีอิ๊ว โดยในช่วงท้ายคลิป ได้ลองชิมปลาไหลมอเรย์นึ่งซีอิ๊วให้ดู และบอกว่าเนื้อปลาไหลชนิดนี้มีรสชาตินุ่มอร่อยเหมือนปลาเก๋า และปลาหิมะ หลังจากภาพรีวิวเผยแพร่ออกไป ก็เกิดการวิจารณ์เป็นวงกว้าง
สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (สทช.10) โดยศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ตรวจกรณีมีการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พบว่าแพร้านอาหารทะเลบริเวณอ่าวสะปำ มีการจำหน่ายปลาไหลมอเรย์ ซึ่งเป็นปลาสวยงามตามบัญชี 3 ท้ายประกาศกระทรวงฯ พร้อมจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 2 ราย
ร้านแรก พบของกลาง ปลาผีเสื้อนกกระจิบ 2 ตัว ปลาโนรี 2 ตัว ปลาสิงโต 2 ตัว ปลาวัวส้ม 1 ตัว ปลาไหลมอเรย์ 5 ตัว ส่วนร้านที่ 2 พบของกลางเป็น ปลาสิงโต 1 ตัว ปลาโนรี 2 ตัว ปลาปักเป้าหน้าหมา 1 ตัว โดยแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐานฝ่าฝืน ข้อ 11 (8) ห้ามจับหรือครอบครองปลาสวยงามในบัญชี ก่อนที่จะนำผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองภูเก็ต ดำเนินคดีต่อไป
ปลาไหลมอเรย์ ส่วนใหญ่มีสีสันลวดลายสวยงาม บางชนิดที่มีขนาดเล็ก ยาวไม่เกิน 2 ฟุต อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยหรือน้ำจืดได้ นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามาม ไม่ใช่เพื่อการบริโภค
นายสุชาติ รัตนเรืองสี ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดภูเก็ต สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (สทช.10) กล่าวว่า นอกจากพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนว่ายังมีร้านจำหน่ายอาหารทะเลหรือซีฟู้ดอีกหลายแห่งที่มีกระชังเลี้ยงปลาเป็นของตัวเอง แอบลักลอบนำปลาสวยงามมาทำเมนูจำหน่ายให้กับลูกค้า แต่จะไม่มีการระบุชื่อเมนูของปลาสวยงามไว้ในเมนูหลัก เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถนำมาทำเมนูอาหารได้ จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบต่อไป. – สำนักข่าวไทย