กรุงเทพฯ 8 มี.ค. – เปลี่ยนผ่านแหล่งบงกชฯจากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตราบรื่น ด้าน ปตท.สผ.- เชฟรอ ซึ่งชนะการประมูลสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในอ่าวไทย รอบ 24 ประกาศพร้อมลงทุนร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า จากการที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานได้ประกาศผล ผู้ชนะการประมูลแปลงสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) นั้น บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ชนะการประมูลและได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 2 แปลง คือ แปลง G1/65 และแปลง G3/65 มีพื้นที่รวมกัน 19,515.42 ตารางกิโลเมตร โดย ปตท.สผ. อีดี ถือสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 100 ในทั้ง 2 แปลง ซึ่งทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับแปลง G1/61 และ G2/61 ที่ ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้สามารถพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทยและคนไทย
ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกว่า 50 โครงการ ใน 14 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นโครงการในประเทศไทยจำนวน 14 โครงการ
ส่วนการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแหล่งบงกช ในวันนี้ (8 มีนาคม 2566) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแจ้งว่าได้กำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแปลง 16 และ 17 (แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช) จากระบบสัมปทาน ไปสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต แปลง G2/61 ด้วยความราบรื่น และกรมเชื้อเพลิงฯ ได้รับมอบสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมจาก ปตท.สผ. และ บริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ อีพี ไทยแลนด์ ผู้รับสัมปทานรายเดิม และส่งมอบให้แก่ บริษัท ปตท.สผ. อีดี ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต เพื่อผลิตปิโตรเลียมในแปลง G2/61 โดยอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติ ณ วันสิ้นสุดสัมปทานของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข 16 และ 17 (แปลง G2/61) อยู่ที่ 678 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อรวมกับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G2/61 (แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข 15 ที่ดำเนินงานภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 65 ที่ผ่านมา) จำนวน 190 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลง G2/61 จึงอยู่ที่ 868 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นายรณรงค์ ชาญเลขา กรรมการ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า จากการที่ เชฟรอน ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ภายใต้สัญญาPSC นั้น บริษัทจะผสานความรู้ความเชี่ยวชาญในธรณีวิทยาของอ่าวไทย เข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และแนวทางปฏิบัติงานที่เป็นเลิศจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เชฟรอนเชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจ G2/65 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งขับเคลื่อนสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ. 2050) .–สำนักข่าวไทย