กรุงเทพฯ 3 มี.ค. – กรมควบคุมโรค เปิดสถิติหน้าร้อน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบเด็กจมน้ำ กว่า 900 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย เกิดเหตุจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุด แนะผู้ปกครองสนับสนุนให้เด็กเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด
วันนี้ (3 มีนาคม 2566) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อนและเป็นช่วงที่เด็กปิดเทอม เด็กๆ อาจชวนกันไปเล่นน้ำตามลำพัง โดยขาดการดูแลจากผู้ปกครอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้ ข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 – 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม) จำนวน 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย เดือนเมษายนพบเหตุการณ์จมน้ำมากที่สุด 65 ราย รองลงมาคือ เดือนมีนาคม 64 ราย และเดือนพฤษภาคม 63 ราย
โดยมีจังหวัดที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากกว่า 10 รายถึง 40 จังหวัด เสียชีวิต 6-10 ราย มี 19 จังหวัด เสียชีวิต 2-5 รายมี 16 จังหวัด และมีเพียง 2 จังหวัดที่เสียชีวิตน้อยกว่า 2 ราย ได้แก่ จังหวัดระนอง และลำพูน แหล่งน้ำที่พบว่าเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ (ร้อยละ 76.5) เขื่อน/อ่างเก็บน้ำ/ฝาย (11.1) ทะเล (5.3) ภาชนะภายในบ้าน (3.5) และสระว่ายน้ำ/สวนน้ำ (1.8) โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด (ร้อยละ59.4) รองลงมาคือ พลัดตกลื่น (21.5) ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ขาดการดูแลจากผู้ปกครอง และขาดความรู้เรื่องแหล่งน้ำเสี่ยง
ทั้งนี้ 10 จังหวัดแรกที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดในช่วงฤดูร้อน ปี 2561 ถึง 2565 ได้แก่ บุรีรัมย์ (45 ราย) อุดรธานี (38 ราย) นครราชสีมา (37 ราย) สุรินทร์ (30 ราย) ร้อยเอ็ด (28 ราย) สกลนคร (28 ราย) นครสวรรค์ (26 ราย) ขอนแก่น (25 ราย) นครศรีธรรมราช (25 ราย) และปัตตานี (24 ราย) โดย 7 ใน 10 จังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มอายุที่จมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด คือเด็กอายุ 5-9 ปี (ร้อยละ 42.1) รองลงมาคือ อายุ 0-4 ปี (31.5) และอายุ 10-14 ปี (26.4) เพศชายจมน้ำสูงกว่าเพศหญิงถึง 2.2 เท่าตัว
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค มีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในหน้าร้อนนี้ คือ 1) เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรได้เรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เนื่องจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ที่ผ่านมา เด็กขาดโอกาสในการเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำหรือจมน้ำที่ถูกต้อง 2) เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่แขน เอื้อมถึงหรือคว้าถึง ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด และ 3) ขอแนะนำให้ประชาชนทุกคนสวมเสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ
ทั้งนี้ ชุมชนควรมีการเฝ้าระวังแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงในชุมชน ห้ามให้เด็กลงไปเล่นน้ำตามลำพังโดยเด็ดขาด และสถานที่ที่เปิดให้บริการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำบริเวณแหล่งน้ำที่เพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย กำหนดบริเวณสำหรับเล่นน้ำ มีเจ้าหน้าที่ lifeguard คอยดูแล แบ่งเขตพื้นที่สำหรับเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำที่ปลอดภัย ติดป้ายแจ้งเตือน เช่น ห้ามลงเล่นน้ำ น้ำลึก น้ำวน และจัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำบริเวณแหล่งน้ำ และป้ายขอความช่วยเหลือ เบอร์ 199 หรือหากได้รับบาดเจ็บให้ โทร 1669 .-สำนักข่าวไทย