1 มี.ค. – อสส.ตั้ง 5 คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้อง 5 คดีดัง “เสี่ยกำพล-มาวินเบต-เเทนไท-ยา 4 เเสนเม็ด-บริษัทเปรมชัยรุกที่ป่า” ให้มีอำนาจเรียกเอกสาร เชิญอัยการให้ข้อเท็จจริงเสนอ อสส. เเละที่ประชุม ก.อ.
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด มีคำสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนและที่มีผู้มาร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่ประชาชนให้ความสนใจและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีคณะทำงาน 5 คณะ ให้มีอำนาจและหน้าที่ตามข้อ 1-9 และรายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสั่งคดีและข้อเสนอแนะอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรต่ออัยการสูงสุดเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการต่อไป
ส่วนรายละเอียดคำสั่งนั้น เป็นคำสั่งที่ 420/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีข่าวสารและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสูงสุด ด้วยสำนักข่าวเเห่งหนึ่ง เผยแพร่ข่าว ต้องเร่งรัดกวาด ขยะใต้พรมที่สำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีการกล่าวถึงมีคดีจำนวนหลายคดีที่กลายเป็นภาระและเป็นขยะใต้พรม ที่ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร ต้องเร่งเก็บกวาด ขณะที่เวลาที่อยู่ในตำแหน่งมีเพียง 1 ปี ซึ่งเวลาผ่านไปแล้ว 5 เดือน จึงเหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งอีกเพียง 7 เดือน ถ้าไม่สามารถสะสางสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ได้หมด ภาระนี้จะกลายเป็นของผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดคนต่อไป
ซึ่งตามข่าวมี 5 คดี ประกอบด้วย คดีเผาสวนงูภูเก็ต, คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก, คดีนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก, คดีมาวินเบต ดอทคอม และคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 4 เเสนเม็ด ที่จังหวัดนนทบุรี และมีคดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก ตามหนังสือร้องเรียนของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ฉบับลงวันที่ 14 ก.พ.66 ถึงประธาน ก.อ. อันเป็นกรณีเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 และมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 จึงแต่งตั้งบุคคลต่อไปนี้เป็นคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีข่าวสาร และเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าว
โดยให้คณะทำงานทั้ง 5 ชุดมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้ 1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงาน อัยการสูงสุด 2.จัดทำลำดับเหตุการณ์ (Timeline) ในการดำเนินคดีที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่รับสำนวน และการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงต่อที่ประชุม ก.อ. และสาธารณชน 3.เรียกสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา 4.เชิญพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือความเห็นประกอบการตรวจสอบ 5.เรียกเอกสารจากหน่วยงานภายในสำนักงานอัยการสูงสุดที่เก็บรักษาเอกสารเพื่อประกอบ การพิจารณา และให้หน่วยงานดังกล่าวให้ความร่วมมือจัดส่งเอกสารโดยพลัน
6.เชิญบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อเท็จจริง ข้อมูลหรือความเห็นประกอบการตรวจสอบ และขอเอกสารหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ให้หัวหน้า คณะทํางานฯ แต่ละคณะมีอำนาจลงนามในหนังสือออก 7.ให้หัวหน้าคณะทํางานแต่ละคณะมีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมได้ตามความจําเป็น และเหมาะสม 8.ให้หัวหน้าคณะทำงานแต่ละคณะมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกในการดำเนินการตรวจสอบของคณะทำงานให้สำเร็จ ลุล่วง รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินการตรวจสอบของคณะทำงานได้ ตามที่เห็นสมควรและจำเป็น และ 9.รายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นเกี่ยวกับการสั่งคดี และข้อเสนอแนะอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรต่ออัยการสูงสุดเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการในโอกาสแรก. -สำนักข่าวไทย