รร.มารวยฯ 23 พ.ค.-กลุ่มแพทย์เรียกร้องปฏิรูประบบสาธารณสุขและหลัก ประกันสุขภาพ หวังลดภาระงานของแพทย์ ทำงานหนัก 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ในการประชุมปฏิบัติการและหารือรับฟังเพื่อหาข้อเสนอทางออก ‘หมอ บอล’ ตายขณะรักษาผู้ป่วย” คน สธ.ต้องตาย-เจ็บ-ถูกทอดทิ้งในหน้าที่ อีกกี่คน ร่วมกันหาความจริง แก้ไข
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภาและพญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาภาระงานของแพทย์ พยาบาล ทำงานหนักมีมานาน โดยสัดส่วนของแพทย์ทำานจริงมีไม่ถึงครึ่ง เพราะส่วนใหญ่ เป็นผู้บริหาร และอีกส่วนหนึ่งเป็นแพทย์ที่ต้องศึกษาต่อ ทำให้เหลือบุคลากรทำงานน้อยมาก ข้อมูลของแพทยสภาเมื่อปี 2548 พบว่าแพทย์โรงพยาบาลชุมชน หรือ โรงพยาบาลศูนย์ ต้องทำงานหนักมากถึง 80-120 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ พยาบาลทำงานควงกะ 24 ชั่วโมง แม้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเข้าใจ แต่ก็ติดกับดักอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรรมการข้าราชการพลเรือน หรือกพ.ที่ไม่สามารถเพิ่มอัตราข้าราชการได้และติดกับดักภาระงบประมาณ ที่อยู่ภายใต้ สปสช. ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ได้รับงบประมาณจริงจากค่ารักษาพยาบาลเพียงร้อยละ 70 และยังติดกับดักมาตรฐานการรักษา ที่สปสช.ตั้งเกณฑ์การจ่ายเงินต่อการรักษา ทำให้การรักษาผู้ป่วยไม่เป็นอิสระ และไม่เป็นไปตามการวินิจฉัย ทั้งนี้จึงอยากเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ออกจากกพ. เพื่อจัดสรรอัตรากำลังเอง และ ออกกฎหมายการทำงานและเวลาการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับการทำงานในวิชาชีพอื่น เหมือนระดับสากล ตั้งกองทุนทดแทนให้บุคลากรที่ทำงานแล้วได้รับผลกระทบ ทั้งจากการบาดเจ็บและเสียชีวิต
นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำงานที่อ่อนล้าของแพทย์ มีผลต่อคนไข้ที่รีบบริการ การฟ้องร้องหากเกิดความผิดพลาดจากการรักษา การตรวจสอบเชิงลึกจะพบว่าแพทย์ทำงานเกิดเวลา ภาระงานล้น พักผ่อนนอน ทำงานมากว่า 30 ชั่วโมง นอนจริงแค่15 นาที อาศัยการนอนแบบสะสม เรียกร้องผู้บริหารสาธารณสุขหันมามองความจริงและเรียกร้องไม่ให้อยู่ภายใต้การครอบงำของสปสช. -สำนักข่าวไทย