กรุงเทพฯ 26 ก.พ. – กระทรวงคมนาคม โต้ “ชูวิทย์” อีกดอก! ให้เข้าใจแนวทางการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยืนยันดำเนินการตามกฎหมายเคร่งครัด บริหารงบประมาณจากเงินภาษีประชาชนคุ้มค่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคมได้ออกเอกสารชี้แจง กรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก เพื่อการบริหารงบประมาณจากเงินภาษีอากรอย่างคุ้มค่า โดยหนังสือดังกล่าว ในข้อที่ 6 ได้พาดพิงถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าไม่ใช้อำนาจตามความในมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 เพื่อยับยั้งการกระทำที่เกี่ยวกับการให้เอกชนร่วมลงทุน นั้น กระทรวงคมนาคม ขอชี้แจง ระบุว่าเพื่อให้ข้อมูลสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นเหล่านี้ ประกอบด้วย
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก ซึ่งเป็นโครงการที่นายชูวิทย์ พาดพิงถึงกระทรวงคมนาคมนั้น เป็นโครงการของการรถไฟฟ้ามวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ)
ส่วนอำนาจในการกำกับควบคุมของกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ที่นายชูวิทย์ อ้างถึงนั้น เป็นอำนาจในการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นการกำกับโดยทั่วไปของ รฟม. โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า การที่กระทรวงคมนาคมจะยับยั้งการกระทำของ รฟม.ได้ จะต้องเป็นการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
- ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น รฟม. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ที่ว่าด้วยกระบวนการและขั้นตอนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งนี้ สถานะปัจจุบันของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน ตามมาตรา 36-39 ซึ่งกำหนดให้ รฟม. แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นมาคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนของ รฟม. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ในการดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนไว้เป็นลำดับ
โดยที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุให้กระทรวงคมนาคมมีหน้าที่ หรือมีอำนาจในการกำกับดูแลขั้นตอนและกระบวนการคัดเลือกเอกชนไว้ จึงถือว่าเป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยแท้ที่จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนจนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการ ตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกแล้วเสร็จ ในมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ กำหนดให้ รฟม. จัดส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนอีกครั้ง จึงจะสามารถเสนอผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42
- ด้วยเหตุดังกล่าว จากขั้นตอนทุกขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ กระทรวงคมนาคมจะมีหน้าที่และอำนาจเข้าไปพิจารณาได้เฉพาะในขั้นตอนพิจารณาผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 42 เท่านั้น โดยกระทรวงคมนาคมไม่สามารถดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนในขั้นตอนก่อนหน้านี้ได้เลย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงและกระบวนการของกฎหมายที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ปรากฏว่า สถานการณ์ดำเนินการคัดเลือกเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ความเข้าใจของนายชูวิทย์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจของกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับการคัดเลือกของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง และหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง
กระทรวงคมนาคม ขอย้ำอีกครั้งว่า กระบวนการคัดเลือกเอกชน ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นกระบวนการที่มีกฎหมายกำหนดกรอบอำนาจ สิทธิ หน้าที่ และขั้นตอนของผู้เกี่ยวข้องไว้โดยเฉพาะ ส่วนอำนาจในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 นั้น กระทรวงคมนาคม มีเพียงอำนาจในการกำกับดูแลกิจการของ รฟม. ในกิจการทั่วไปเท่านั้น ไม่สามารถก้าวล่วงเข้าไปแทรกแซงกระบวนการที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายเฉพาะได้ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงขอยืนยันว่า การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กระทรวงคมนาคมปฏิบัติตามกรอบหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายไว้อย่างครบถ้วนแล้ว โดยในขั้นตอนใดที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงคมนาคมไว้ กระทรวงคมนาคมก็ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีการใช้เงินภาษีอากรของประชาชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
ขณะที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ก็ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีการกล่าวอ้างว่า ส่อว่ามีการทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) นั้น โดย BEM ได้ชี้แจงว่า BEM เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจโดยสุจริต โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด และในการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งบริษัทเป็นผู้ชนะการคัดเลือกและอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
บริษัทฯ ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้กระทำการใดๆ ที่เป็นการทุจริต หรือทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ตามที่มีการให้ข่าวพาดพิงถึงบริษัทแต่อย่างใด และบริษัทจะพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัทจากการให้ข่าวในลักษณะดังกล่าวต่อไป
บริษัทเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอที่บริษัทเสนอให้แก่ รฟม. จนเป็นผู้ชนะการคัดเลือก เป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน รัฐ และประเทศชาติโดยรวม สามารถดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จได้จริง ทั้งในด้านการก่อสร้างงานโยธา การให้บริการเดินรถ และการให้ผลตอบแทนแก่รัฐ ทั้งนี้ หากบริษัทได้รับการอนุมัติให้เป็นผู้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริษัทสามารถเริ่มงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ได้ทันที และจะดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงสุด เพื่อเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแก่ประชาชนให้ได้โดยเร็วตามแผนงานของรัฐบาล. – สำนักข่าวไทย