รัฐสภา 21 พ.ค. – ประธานกรธ. เผยเตรียมส่งร่างพรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้สนช.สัปดาห์หน้า ยืนหลักการให้พิจารณาคดีลับหลังได้กรณีที่จำเลยไม่มาศาล แต่ต้องมีหลักฐานยืนยันว่าได้มีความพยายามให้จำเลยมาแล้ว โดยอย่างน้อยต้องมีหมายจับ และปรับแก้ให้อุทรณ์ได้ทั้งหลักฐานใหม่และข้อกฎหมาย ยืนยันแม้มีผลบังคับใช้ ก็ไม่สามารถดำเนินคดีกับ “ทักษิณ”และคนอื่นที่หนีคดีไปต่างประเทศ โดยจะใช้ในกรณีที่ฟ้องใหม่เท่านั้น
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้อีก 2 ฉบับคือร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งในส่วนของร่างพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นยังยืนยันหลักการที่ให้สามารถพิจารณาคดีลับหลังได้กรณีที่จำเลยไม่ยอมมาศาล แต่มีกระบวนการเพิ่มขึ้นว่าทางฝ่ายป.ป.ช.หรืออัยการที่ฟ้องคดีจะต้องมีการออกหมายจับแล้ว แต่ไม่สามารถจับกุมตัวหรือนำตัวจำเลยมาศาลฯได้ เพื่อให้จำเลยรู้ตัว หากหนีไปก็แสดงว่าไม่ประสงค์จะมาปรากฎตัวต่อหน้าศาล จะได้ทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อที่คดีจะได้ไม่สะดุดหยุดลง ซึ่งการที่มีขั้นตอนดังกล่าวเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งกัน ดังนั้นมั่นใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้การพิจารณาคดีต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเดินหน้าไปตามปกติ โดยไม่ต้องหยุดชะงักลง และความยุติธรรมจะเกิดขึ้น
“จะเกิดความเป็นธรรมขึ้น เพราะคนที่ทำผิด โดยหลักจะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา ซึ่งเมื่อยังไม่มีคำพิพากษาก็จะถือว่าบุคคลนั้นสุจริตอยู่เรื่อยไป แต่ขณะเดียวกันคนที่หนีสามารถตั้งทนายมาฟ้องคนอื่นได้ แต่คนอื่นจะฟ้องกลับ หาตัวเขาไม่ได้ ถือเป็นการเอาเปรียบ ความเป็นธรรมจะไม่เกิดขึ้น”นายมีชัย กล่าวว่า
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ในระบบของศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ใช้ระบบไต่สวน และระบุไว้ชัดว่าการไต่สวนเป็นเรื่องของศาลที่จะหาความจริง การจะเอาชนะกันในเชิงเทคนิคจะไม่มีเกิดขึ้น และการจะชนะคดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเก่งหรือไม่เก่งของทนายความ เพราะศาลฯจะมีอำนาจในการหาพยานหลักฐาน เรียกตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบเพื่อหาความจริงและตัดสินไปตามข้อเท็จจริงที่ได้มา ซึ่งการหาพยานหลักฐานส่วนหนึ่งทางโจทก์และจำเลยส่งมาที่ศาลอยู่แล้ว แต่หากศาลฯสงสัยก็มีอำนาจในการเรียกมาเพิ่ม และการพิจารณาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าทนายความจะซักถามอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่ศาลจะซักเอง ดังนั้นการพิจารณาคดีจะหมดจด เพราะศาลจะซักหมดทั้งในทางที่เป็นคุณและเป็นโทษ
นายมีชัย กล่าวด้วยว่าตามร่างกฎหมายนี้ได้มีการปรับแก้เรื่องการอุทรณ์ โดยจะเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่เจ้าตัวต้องมาอุทธรณ์เอง ไม่ใช่หนีไปแล้วมาอุทรณ์ นอกจากนี้เวลาที่ฟ้องนั้น จะไม่ให้เอาอายุความเรื่องการฟ้องคดีมาใช้ เมื่อฟ้องแล้ว คดีที่จะขาดอายุความก็จะไม่ขาด โดยศาลฯจะพิจารณาไปได้จนจบ และหากพบว่าผิด จึงจะเริ่มนับอายุความอายุความในวันที่ตัดสินและยืนยันว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะไม่ได้นำมาใช้ในคดีของผู้ที่หนีคดีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วย เพราะกฎหมายนี้จะใช้สำหรับคดีที่จะฟ้องใหม่ ไม่มีการใช้ย้อนหลัง เว้นแต่เห็นว่าคดีไหนที่ยังไม่ขาดอายุความ ก็สามารถฟ้องใหม่ได้ แต่จะต้องเริ่มกระบวนการใหม่นับหนึ่งแต่งตั้งขั้นตอนฟ้องในตอนแรก.-สำนักข่าวไทย