กรุงเทพฯ 14 ก.พ.- ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัด “รัชฎา” อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ สอบข้อเท็จจริง 23 ก.พ.นี้ ปมฟ้อง “ผบก.ปปป.-ชัยวัฒน์” ในคดีถูกจับเรียกรับสินบนคาห้องทำงาน ก่อนนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาอีกครั้ง 30 มี.ค.
ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง วันนี้ ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในคดีที่นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ โจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมพวกรวม 7 คน ในฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ความผิดต่อเสรีภาพ, ทำพยานหลักฐานเท็จฯ, เจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษ, บุกรุก, ซ่องโจรฯ จากการณี ที่ตำรวจ ปปป.เข้าจับกุมนายรัชฎา เรียกรับผลประโยชน์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในสังกัด พร้อมยึดเงินสด ซองเงิน รวมเกือบ 5 ล้านบาท ในห้องทำงานของกรมอุทยานฯ
โดยมีทนายความของโจทก์ มาศาล ซึ่งศาลพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า บางส่วนยังฟ้องไม่ถูกต้องในความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดว่าผู้ถูกฟ้องละเมิดอย่างไร และต้องชี้ช่องพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลนำสืบ และยื่นฟ้องใหม่ภายใน 15 วัน
ส่วนการฟ้องฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ความผิดต่อเสรีภาพ, ทำพยานหลักฐานเท็จฯ, เจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษ บุกรุก ซ่องโจร ศาลมีคำสั่งให้นายรัชฎา ในฐานะโจทก์ ต้องมาสอบข้อเท็จจริง พฤติการณ์ ขณะถูกจับกุม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 09.30 น. หากไม่เดินทางมาด้วยตัวเอง ถือว่าไม่ประสงค์ฟ้องคดีต่อ
นอกจากนั้น ศาลมีคำสั่งให้ออกหนังสือสอบถามไปยังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้ทำรายงานมายังศาลใน 4 ประเด็น คือ 1.มูลเหตุการเข้าตรวจค้นจับกุมนายรัชฎา ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา 2.ชี้แจงขั้นการจับกุมว่ามีหมายค้น หรือหมายจับนายรัชฎา หรือไม่ 3.มีการบันทึกภาพ-เสียงของชุดจับกุมหรือไม่ หากมี มีการนำภาพไปเผยแพร่หรือไม่ และผู้ใดเป็นผู้เผยแพร่ ซึ่งการนำไปเผยแพร่เกี่ยวข้องกับการทำคดีหรือความลับทางราชการหรือไม่ 4.เงินจำนวน 98,000 บาท รวมทั้งพยานหลักฐานที่ตรวจยึดในห้องทำงานที่ยึดไป มีการบันทึกจับกุมไว้หรือไม่ โดยให้ตำรวจทำรายงานส่งให้ศาลภายใน 30 วัน หลังจากได้รับหนังสือ และนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาทางคดี ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ เวลา 09.30 น.
นายวราชันย์ เชื้อบ้านเกาะ ทนายความของนายรัชฎา เปิดเผยว่า เตรียมแก้คำฟ้องตามคำสั่งของศาล และจะยื่นฟ้องใหม่ให้ทันตามกรอบเวลาที่ศาลกำหนด และนายรัชฎา จะมาไต่สวนที่ศาลด้วยตัวเองในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมยังยืนยันว่าการเข้าตรวจค้นจับกุมของเจ้าหน้าที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ต้องมาฟ้องให้ศาลดำเนินคดีตามข้อหาดังกล่าว
นายวราชันย์ ยังบอกถึงสาเหตุของการเข้าจับกุมของตำรวจ และนายชัยวัฒน์ ในครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากการร้องให้ตรวจสอบกรณีที่นายชัยวัฒน์ เมื่อปี 2561 สมัยที่ยังอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อนำไปทำโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 4,200 ไร่ ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มูลค่ากว่า 14 ล้านบาท แต่ไม่มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว จึงร้อง ปปท.ตรวจสอบ ซึ่งทาง ปปท.ส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจสอบ กระทรวงจึงดำเนินการต่อ แต่เมื่อนายชัยวัฒน์ เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ คดีได้ส่งมาถึงสำนักงาน ป.ป.ช.แล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาชี้มูลความผิด ซึ่งกำลังจะหมดอายุความในเดือนมีนาคม 2566
นายวราชันย์ ยังบอกว่า โครงการนี้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเป็น 3 งวด โดยงวดแรกได้เบิกงบไปในวันที่ 29 มีนาคม 2556 แต่โครงการดังกล่าวไม่มีการปลูกป่าจริง ทำให้กระทรวงฯ ได้รับความเสียหาย ซึ่งหลังจากนี้ทางกระทรวงฯ ก็จะต้องไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งเรื่องยังอยู่ระหว่างการรออนุมัติจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ และเห็นว่าเหตุการณ์นี้จึงเป็นต้นเหตุทำให้นายชัยวัฒน์ ไปร่วมกับตำรวจ ปปป. วางแผนล่อซื้อให้เข้าจับนายรัชฎา จนทำให้เกิดความเสียหาย
นายวราชันย์ ยังเตรียมยื่นฟ้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพิ่มเติมอีก 1 สำนวน เนื่องจากเข้าข่ายความผิดปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นกัน ส่วนสำนวนคดีนี้เป็นการฟ้องนายชัยวัฒน์ และตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนกรณีที่นายรัชฎา อ้างว่าเงินที่ได้รับจากหน่วยงานในสังกัดเป็นการนำไปสร้างพระบรมราชนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 เพื่อหาเงินเข้าไปในกองทุนของข้าราชการสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติฯ นั้น นายวราชันย์ ยืนยันว่าข้อมูลในส่วนดังกล่าวยังไม่ขอเปิดเผย เนื่องจากเป็นข้อมูลในการใช้ต่อสู้ทางคดี.-สำนักข่าวไทย