รัฐสภา 6 มี.ค.-2 กมธ.ประชุมครั้งที่สอง เชื่อปัญหาที่ดินส.ป.ก.เขาใหญ่จะจบลงด้วย ONE MAP เตรียมลงพื้นที่ด้วยกันอีกครั้ง ด้าน “ชัยวัฒน์” ติงกรมแผนที่ทหารสำรวจโดยไม่ยึดหมุดอาจทำให้แนวเขตคลาดเคลื่อน ย้ำถึงปมแผนที่จบ แต่เรื่องไม่จบ ต้องเอาผิดจนท.ออกส.ป.ก.
ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมร่วมของ 2 คณะกรรมาธิการ ครั้งที่ 2 โดยมีนายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และนายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันพิจารณาข้อพิพาทที่ดินส.ป.ก.ทับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา โดยช่วงแรกคณะกรรมาธิการฯ รายงานการลงพื้นที่ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเป็นพื้นที่สมบูรณ์ ไม่เหมาะสมที่ออกส.ป.ก. และมีชาวบ้านมายื่นหนังสือว่าได้ยื่นรายชื่อขอ ส.ป.ก แต่ไม่ปรากฎชื่อว่าจะได้รับส.ป.ก. รวมทั้งขอให้ป.ป.ช.ไปดูรายชื่อที่ได้ว่าเชื่อมโยงกลุ่มนายทุนหรือไม่ โดยเฉพาะจุดที่สามที่ลงพื้นที่เป็นเขาลาดชันไม่เหมาะกับเป็นพื้นที่การเกษตร เพราะต้องระเบิดเขา เกรงต่อไปจะเปลี่ยนมือแล้วนำไปใช้ผิดหลักเกณฑ์ ที่ดินไม่ตกถึงมือเกษตรกร
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ชี้แจงข้อตกลงของ 2 กระทรวงที่หารือกัน พร้อมถามกรมแผนที่ทหารที่ลงพื้นที่ยึดร่องห้วยให้ลุงชื่ออะไรไปชี้จุด ยึดโยงจากหมุดไหน พร้อมตั้งข้อสังเกตมีการออกแผนผังมาแล้วในขณะที่ยังสำรวจอยู่ ซึ่งผู้แทนกรมแผนที่ทหารชี้แจงการให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจ และมีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ไปชี้จุด ทั้งนี้ ยืนยันว่าการสำรวจและรังวัดยึดหลักวิชาการ และได้รับมอบหมายไปสำรวจ เพราะกรมแผนที่ทหารได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคของ ONE MAP ที่ไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าว
ผู้แทนกรมแผนที่ทหาร อธิบายการบันทึกในสมุดรังวัดที่ด้วยการเดินผ่านร่องช้างเขาใหญ่ ทำให้ทราบเส้นแนว และการลงพื้นที่ไม่เจอหมุดไม้ เจอแต่หมุดซีเมนต์ที่ถูกนำไปปักไว้ จึงดูเรื่องภูมิประเทศ คลอง ร่องน้ำ และพบเขาช่องลมที่น่าจะเป็นจุดสำรวจเดิมเมื่อปี 2503 และการเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศในทุกปีตั้งแต่ 2496-2555
ขณะที่นายชัยวัฒน์อธิบายเสริมจากภาพถ่ายว่า ในปี 2525 มีแนวกันไฟป่า และปี 2526 เริ่มมีปัญหาที่ทำกินในแปลงปลูกป่า มีการเผาป่า ซึ่งขณะนั้นประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแล้ว พร้อมตั้งข้อสังเกตุการไปเดินสำรวจตามร่องห้วย ไม่ยึดหมุด ทำให้พื้นที่ขยับออกไปห่างจากเดิม หลักที่มีอยู่ถูกต้องตามหลักหมุดตามแนวเขตพระราชกฤษฎีกา การเดินเอาร่องห้วย และสอบถามประชาชนจะทำให้แนวเขตไม่ตรง และจะยึดขอบแนวของหมู่บ้านไม่ได้ แต่ยึดจากวัดที่เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน
นายชัยวัฒน์ ยืนยันว่าเขาลูกช้างอยู่ในอุทยานเขาใหญ่ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย มีถนนเป็นแนวแบ่งเขตอุทยานแห่งชาติ การพิจารณาแผนที่จะยึดต้องเป็นแผนที่แนวท้ายพระราชกฤษฎีกาเป็นหลัก ขณะนี้มีคณะกรรมการ ONE MAP ซึ่งจากปี 2550 ครม.ให้ถ่ายแผนที่ขนาด 1 ต่อ 4,000 ซึ่งส.ป.ก.ต้องไปถ่ายแผ่นที่ขนาด 1 ต่อ 4,000 แล้วนำมาทาบกับแผนที่ของกรมอุทยานฯ เพื่อให้คณะกรรมการ ONE MAP พิจารณา ตามที่ตกลงเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา
“แม้จบเรื่องแผนที่ แต่ทุกอย่างจบไม่ได้ การออกส.ป.ก.เจ้าหน้าที่ต้องมีความผิด ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งการออกส.ป.ก.ในพื้นที่ดังกล่าวยังประกาศทับที่นิคมสร้างตนเองด้วย” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ด้านตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกาา กล่าวว่า การพิจารณาจะต้องยึดแนวเขตที่มาก่อนเป็นที่ตั้ง ที่ผ่านมากฤษฎีกาเคยท้วงติง การประกาศเขตปฎิปรูปเป็นเขตอำเภอของส.ป.ก. ไม่ใช่พื้นที่เฉพาะที่แยกออกมาปฎิรูป
ขณะที่ตัวแทน ป.ป.ช. กล่าวว่า มีเรื่องร้องเรียนไปที่ป.ป.ช.และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง เสนอคณะกรรมการพิจารณาหาผู้กระทำผิด ซึ่งในเรื่องของการหาผู้ที่ไม่อยู่ในข่ายจะได้รับส.ป.ก. นายอภิชาติได้มอบหลักฐาน รายชื่อให้ตัวแทนป.ป.ช. ที่พบว่าจากจำนวนผู้ได้รับส.ป.ก. 58 รายและ 10 รายมาจากต่างอำเภอ
นายสุริยน พัชรครุภานนท์ รองผู้อำนวยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กล่าวว่า จะลงสำรวจพื้นที่เพื่อความชัดเจน ซึ่งคณะที่ประชุมก็เห็นด้วยและจะร่วมลงพื้นที่ด้วยเช่นกัน และเชื่อว่าทุกอย่างจะจบที่คณะกรรมการ ONE MAP ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวันนี้ ตัวแทน สปก.ไม่ได้มาร่วมชี้แจง โดยอ้างว่าติดงานวันสถาปนา.-314.-สำนักข่าวไทย