กรุงเทพฯ 13 ก.พ.- อย. แนะยาคุมกำเนิดฉุกเฉินใช้สำหรับกรณีจำเป็น ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่ใช่ยาสำหรับทำแท้ง และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ทั้งนี้ อาจพบอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้ โดยส่วนใหญ่มีความรุนแรงน้อย แต่ควรปรึกษาแพทย์ หากพบอาการผิดปกติ
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เทศกาลวันแห่งความรัก (14 กุมภาพันธ์) คนส่วนใหญ่มักแสดงความรักแก่กัน ซึ่งมีคู่รักหลายคู่ที่อาจมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน และจำเป็นต้องใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงแนะผู้ใช้ยาทำความเข้าใจ ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกของการคุมกำเนิดที่หลากหลาย โดยมีข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การทำหมัน การใส่ห่วงอนามัย และการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยมียาเม็ดคุมกำเนิดที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำแบบรายเดือน และยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือเกิดความผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นเท่านั้น
ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นชนิดฮอร์โมนเดี่ยว มีส่วนประกอบของโปรเจสโตเจนปริมาณสูง มี 2 ขนาด คือ 0.75 มิลลิกรัม/เม็ด และ 1.5 มิลลิกรัม/เม็ด ซึ่งสามารถใช้ได้ 2 แบบ คือ แบบที่ 1 กินยาขนาด 0.75 มิลลิกรัม ให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน อย่างช้าไม่เกิน 72 ชั่วโมง และกินเม็ดที่ 2 ภายใน 12 ชั่วโมงต่อมา และแบบที่ 2 กินยาขนาด 1.5 มิลลิกรัม ให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรืออย่างช้าไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยการใช้ทั้งสองแบบให้ผลไม่ต่างกัน ทั้งนี้ การใช้ยาคุมฉุกเฉินอาจพบอาการข้างเคียงได้ ซึ่งส่วนใหญ่มีความรุนแรงน้อย เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ปวดท้องน้อย และความผิดปกติของประจำเดือน เช่น ประจำเดือนมายาวนานขึ้น แต่หากพบอาการผิดปกติ หรือสงสัยภาวะตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำว่า การใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นทางเลือกหนึ่งในการคุมกำเนิดที่ใช้สำหรับกรณีจำเป็น โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์น้อยกว่าการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรายเดือน อย่างไรก็ตาม ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้.-สำนักข่าวไทย