10 ก.พ. – กรมบังคับคดีชี้แจงหลังมีข่าวสาวชาวจังหวัดเชียงราย หอบเอกสารร้องขอความช่วยเหลือ หลังไปกู้เงินบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่ขาดส่งจนถูกกรมบังคับคดียึดโฉนดที่ดินขายทอดตลาดไปแล้ว 2 แปลง แต่ยอดหนี้ไม่ลด แถมยังโดนจ่อยึดอีก 1 แปลง รวมแล้วกว่า 11 ไร่
นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดเทิง หมายเลขแดงที่ ผบ. 1804/2559 ซึ่งคดีดังกล่าวศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 375,458 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 267,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น โดยมีเงื่อนไขการผ่อนชำระตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสามตกลงกันในสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งหากผิดนัดจำเลยทั้งสามยอมให้โจทก์ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๙๐๓ ตำบลงิ้ว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดหากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามเพื่อชำระหนี้ให้ครบถ้วน ต่อมาโจทก์ได้มาแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่ายังไม่ได้รับชำระหนี้พร้อมขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาโดยการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๙๐๓ ที่มีชื่อสาวชาวเชียงรายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามที่เป็นข่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ ๑ ในคดีออกขายทอดตลาด แต่ปรากฏว่าการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่พอชำระหนี้ โจทก์จึงได้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไปโดยขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ เพิ่มเติมคือที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๘๒๕๗ ตำบลงิ้ว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ออกขายทอดตลาด แต่เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวติดจำนองสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ทำให้เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดยังไม่พอชำระหนี้โจทก์และยังมีหนี้คงเหลือ ซึ่งโจทก์อาจขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไปโดยการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามได้อีก อันเป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ทราบข่าวความเดือดร้อน กรมบังคับคดี ได้เร่งให้ความช่วยเหลือ โดยได้มอบหมายให้นายกฤษฎา ทาจินา ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย สาขาเทิง ประสานนัดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกันโดยการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย สาขาเทิง
กรมบังคับคดีให้ความสำคัญกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีมาโดยตลอด โดยได้กำหนดมาตรการในเรื่องดังกล่าวไว้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งถึงช่องทางการขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีให้ลูกหนี้ได้ทราบพร้อมกับการแจ้งการยึดหรืออายัดทรัพย์สินทุกครั้ง ซึ่งหากลูกหนี้แสดงความประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีและสามารถเจรจาการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ได้สำเร็จ ก็ไม่เกิดการขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ และลูกหนี้สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับคู่ความและผู้ส่วนได้เสียทุกฝ่าย จึงขอให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ว่าจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์แล้วหรือไม่ก็ตาม ใช้ช่องทางการขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ชั้นบังคับคดีในการแก้ไขปัญหา เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกบังคับคดีอีกต่อไป ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมบังคับคดี 0 2881 4999 สายด่วนกรมบังคับคดี 1111 กด 79 ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หมายเลขโทรศัพท์ 0 2881 4840, 0 2881 4940, 0 2887 5072 และสำนักงานบังคับคดีจังหวัด/สาขาทั่วประเทศ. -สำนักข่าวไทย