บุรีรัมย์ 9 ก.พ. – “หมอล็อต” เผยทีมสัตวแพทย์ยังคงเฝ้าติดตามอาการ “สีดอฉีก” ที่ตาขวาผิดปกติและขาหน้าขวาบาดเจ็บ ส่งผลให้เดินชนต้นไม้ โดยวางแผนรักษาระยะไกล เน้นให้ยากิน เพื่อไม่รบกวนช้าง
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า ได้ติดตามช้างป่าสีดอ เพศผู้ NO.10 ที่เรียกชื่อว่า สีดอฉีก ตามที่มีผู้พบเห็นบริเวณป่าด้านทิศตะวันตกบ้านหนองเสม็ด ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ โดยพบว่า มีความผิดปกติที่ขวาและขาหน้าขวา อีกทั้งมีบาดแผลที่งวง
จากการประเมินการบาดเจ็บของ “สีดอฉีก” ช้างป่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ซึ่งมีอายุประมาณ 45 ปี พบว่า บาดแผลที่งวงมีสามจุด โดยจุดล่างสุดของสันงวง แผลไม่ลึกแต่ยาว แผลปิดสนิดแล้ว ส่วนแผลที่เป็นรูสองจุดข้างบนนั้น รูแผลแคบลง มีการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมา บาดแผลข้างในเป็นสีชมพู ไม่มีการติดเชื้อ จึงไม่น่ากังวลและไม่ต้องรักษา
ส่วนลูกตาขวามีขนาดฝ่อเล็กกว่าปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ประเมินการมองเห็นของตาขวาไม่ปกติ ส่วนตาซ้ายใช้งานมองเห็นได้ โดยรวมสามารถใช้ชีวิตเองได้ อาจมีความระแวงต่อเสียงและวัตถุที่อยู่ทางด้านขวามากขึ้น ดังนั้นผู้พบเจอ ให้พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าข้างขวาของช้างป่า “สีดอฉีก”
สำหรับขาทั้งสี่ข้าง สามารถลงน้ำหนักยืนและเดินเองได้ มีตุ่มที่ขาหน้าขวาไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ตุ่มที่ลำตัวบางตำแหน่งซึ่งอาจเกิดจากแมลง กิ่งไม้ที่มีหนาม หรือฝี การพับงอของข้อขาหน้าขวา ติดขัดเล็กน้อย เกิดการอักเสบ มีช่วงยืนพักขาเป็นระยะ ไม่พบแผลเปิด นอกจากนี้ยังพบว่า ใช้งวงจับดึงพืชอาหารได้ กินอาหารได้ และขับถ่ายปัสสาวะได้ปกติ
นายสัตวแพทย์ภัทรพลกล่าวว่า ช้างป่าสามารถใช้ชีวิตในการเดินหากินได้ โดยประเมินจากสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ผอม เห็นควรให้ทำการรักษาระยะไกลแบบไม่รบกวนช้าง ด้วยการให้ยาลดการอักเสบชนิดเม็ดแบบกิน ยัดใส่อาหาร เพื่อหวังผลรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณขาหน้าขวา โดยคำนวณยาตามน้ำหนักตัวช้าง
ทั้งนี้ได้วางแผนให้ยา 1 ครั้ง ด้วยการวางอาหารที่ยัดยารักษาและให้วางเพียง 1 จุดเท่านั้น เพื่อลดโอกาสที่ช้างตัวเดิมจะกินยาซ้ำซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาเกินขนาดและอาจเกิดอันตรายต่อตัวช้างได้ และติดตามประเมินอาการอย่างต่อเนื่อง หากยังมีอาการเจ็บขา จะประเมินให้ยากินลดอักเสบต่อไป
นอกจากนี้ยังย้ำว่า การเข้าติดตามประเมินอาการช้างตัวดังกล่าว ต้องทำตามเหมาะสม ไม่รบกวนช้างเป็นระยะเวลานานหรือเข้าใกล้ช้างมากเกินความจำเป็น เนื่องจากทำให้ช้างที่บาดเจ็บอาจมีความเครียดมากขึ้น เหตุผลที่ไม่ให้ยารักษาในรูปแบบยาฉีดโดยการยิงยารักษาเหตุผลเพื่อลดการรบกวนช้างไม่ให้เกิดความกลัว ตกใจ ซึ่งช้างอาจจะวิ่งเตลิด ขาก็จะยิ่งเจ็บมากขึ้น ช้างอาจวิ่งชนต้นไม้ได้ หรือไม่ก็วิ่งเข้าหาคน และอาจทำให้ช้างมีพฤติกรรมความทรงจำต่อคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี และการรักษาแบบไม่รบกวนสัตว์เป็นการกำหนดพื้นที่หากินของช้าง ไม่ให้หวาดกลัวหนีไปอยู่บริเวณอื่น เพื่อง่ายต่อการติดตามและประเมินอาการต่อไป.-สำนักข่าวไทย