กรุงเทพฯ 8 ก.พ.-GIT ร่วมกับ จ.สตูล จัดโครงการพัฒนาอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว ใน 4 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สตูล พังงา ภูเก็ต ยกไข่มุกอันดามัน เป็นอัญมณีสำคัญ ดันยอดการท่องเที่ยวภาคใต้ของไทยให้ติดอันดับโลก ดึงรายได้พัฒนาชุมชน
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวว่า GITและจังหวัดสตูลได้ร่วมจัดโครงการพัฒนาศักยภาพช่างฝีมือ นักออกแบบ และผู้ขายเครื่องประดับ ให้สามารถปล่อยพลังสร้างสรรค์งานอย่างเต็มที่ ผ่านสายตาและคำแนะนำอันทรงคุณค่า จากทีมนักออกแบบรวมถึงผู้เชี่ยวชาญ เฟ้นหาผู้ประกอบการจำนวนทั้งหมด 12 ท่าน จาก 4 จังหวัด เข้าร่วมต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และรับทุนสนับสนุนการผลิตต้นแบบเครื่องประดับอัตลักษณ์เสน่ห์ใต้ รวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท
ทั้งนี้ การท่องเที่ยว และการซื้อสินค้า เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวทำร่วมกันเป็นเนื้อเดียว เมื่อมาเที่ยวแล้วก็ต้องได้ของสวยของงามที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของสถานที่ ที่ไปเยี่ยมเยือน กลับไปใช้เอง เป็นของที่ระลึก หรือฝากเป็นของขวัญให้กับคนที่รัก ดังนั้นการสร้างแนวความคิดใหม่ๆ ด้วยวิธีการออกแบบที่เป็นสากล เป็นที่ยอมรับในระดับโลก แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์หรือภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นโจทย์สำคัญที่ทาง GIT พยายามผลักดัน และประสบความสำเร็จอย่างสูงในปีที่ผ่านๆมา และในปีนี้ยังความสำคัญในการแสดงศักยภาพนักออกแบบ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการล้วนต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดเครื่องประดับที่สวยงาม และโดดเด่น เมื่อสวมใส่แล้วต้องเป๊ะปัง อันทำให้เกิดความทรงจำใหม่ที่ไม่รู้ลืมสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย
นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว (นครศรีธรรมราช สตูล พังงา ภูเก็ต) จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ณ โรงแรมสินเกียรติธานี จังหวัดสตูล ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ด้วยเอกลักษณ์ที่โด่งดังของไข่มุกภาคใต้ของไทย อันเป็นสินค้าเครื่องประดับยอดนิยมของคนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน การปรับปรุงพัฒนารูปแบบของเครื่องประดับให้ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ และตลาดโลก
ทั้งนีั เป็นโจทย์สำคัญที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT ให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง หลังจากเปิดประเทศไทยเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ จึงได้ดำเนินการต่อยอดความเก่งของช่าง นักออกแบบและผู้ผลิตเครื่องประดับในพื้นที่สี่แหล่งสำคัญทางใต้ ให้สามารถออกแบบและสร้างสรรค์งานเครื่องประดับให้ออกมาเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกและคนรุ่นใหม่ อันเป็นการสร้างรายได้ให้กับแหล่งท่องเที่ยวของทั้งสี่จังหวัดอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย