กรุงเทพฯ 2 ก.พ. – กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จับมือร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมความรอบรู้ด้านกิจกรรมทางกายสำหรับ “ผู้สูงวัย เคลื่อนไหวดี ไม่มีล้ม นอนหลับดี” ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ รองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 นายแพทย์สุวรรณาชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานกล่าวประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพทักษะบุคลากร และภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมความรอบรู้ด้านกิจกรรมทางกาย “ผู้สูงวัย เคลื่อนไหวดี ไม่มีล้ม และการนอนหลับดี” ณ โรงแรมที เค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เนื่องจากสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยเมื่อปี 2564 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.8 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศจะเป็นผู้สูงอายุ
กระทรวงสาธารณสุข โดยการนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดนโยบายสำคัญในปี 2566 ประเด็นที่ 3 คือ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นระบบ ภายใต้มาตรการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกรมอนามัยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ การคุ้มครองสุขภาพ และการดูแลสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ “การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี เคลื่อนไหวดี มีสุขอนามัยการนอนที่ดี และมีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ
กรมอนามัยจึงได้ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมความรอบรู้ด้านกิจกรรมทางกาย “ผู้สูงวัย เคลื่อนไหวดี ไม่มีล้ม และการนอนหลับดี” ปี 2566 ภายใต้การขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 เพื่อพัฒนากลไกและแนวทางการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการมีกิจกรรมทางกาย และการนอนหลับที่ดี รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับพื้นที่ให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้สูงอายุไทยมีการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายอย่างเหมาะสม” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ร่างกายของผู้สูงอายุเสื่อมถอยลง ขาดความคล่องแคล่ว ความคิดและการตัดสินใจช้าลง เนื่องจากการเสื่อมถอยของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ การรับรู้และการแสดงปฏิกิริยาช้าลง ความจำลดลง มีภาวะสมองเสื่อม ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ง่าย ซึ่งการพลัดตกหกล้มเป็นอุบัติเหตุที่พบในผู้สูงอายุมากที่สุด และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองรองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน การพลัดตกหกล้มมีตั้งแต่การล้มบนพื้นระดับเดียวกัน การลื่น สะดุด ก้าวพลาด ถูกผู้อื่นชนหรือดัน ซึ่งสาเหตุหลัก
ในการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ มี 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านร่างกาย (การมองเห็น การเดิน การทรงตัว โรคประจำตัว)
2.ด้านพฤติกรรม (ขาดการออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์) 3.ด้านสิ่งแวดล้อม (พื้นที่ต่างระดับ พื้นลื่น ไม่มีราวบันไดจับ) 4.ด้านเศรษฐกิจและสังคม (การเข้าถึงบริการสุขภาพ และสังคมได้น้อย รายได้ การศึกษา)
“ทั้งนี้ การส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสม คือ การเดินหรือวิ่งช้าๆ โดยเริ่มจากเบาไปหาหนัก เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพและค่อยเพิ่มความเร็วเป็นการเดินเร็วหรือการวิ่ง สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่าหรือข้อเท้า ไม่ควรวิ่ง เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บ ส่วนผู้สูงอายุควรออกกายบริหาร อาทิ เหยียดน่อง
เขย่งปลายเท้า ย่อเข่า โยกลำตัว สำหรับการว่ายน้ำหรือเดินในน้ำเหมาะกับผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อม เพราะการว่ายน้ำช่วยลดแรงกระแทก ช่วยฝึกกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายและฝึกหายใจอย่างเป็นระบบ รวมทั้งควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรนอน 7-9 ชั่วโมง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสริมผู้สูงอายุไทยเพื่อเป็นหลักชัยของสังคมต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย