รัฐสภา 1 ก.พ.-ฝ่ายค้าน เสนอญัตติด่วนช่วย “ตะวัน-แบม” ด้าน “หมอชลน่าน” ห่วงจะไม่มีการเลือกตั้งหากปล่อยให้เหตุการณ์บานปลาย ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่เห็นด้วยปฏิรูปศาลให้การดำเนินดคีกับผู้ต้องหาเกิดความยุติธรรม
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (1ก.พ.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงในวันนี้ ( 1 ) นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการประกันตัว จากกรณีตะวัน และ แบม อดอาหารประชุมท้วงจนเสียงอันตรายต่อชีวิต จึงอยากให้สภาฯร่วมกันพิจารณาเพื่อหาทางออกโดยเร็ว ทำให้ ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะนายศุภชัย ใจสมุทร ลุกขึ้นแสดงความเห็น ว่า เห็นด้วยที่จะมีพิจารณาเรื่องนี้ แต่ขอให้เสนอเป็นญัตติในวันพรุ่งนี้ ( 2 ก.พ. ) ได้หรือไม่ เพราะร่างกฎหมายกัญชา กัญชง ถูกสกัดอยู่ตลอดทำให้เสียเวลาพิจารณาไปมากแล้ว
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยืนยันต้องเสนอญัตติภายในวันนี้(1ก.พ.) เท่านั้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเวลาของชีวิตคน ซึ่งอาจจะเสียชีวิตได้ทุกวินาที อีกทั้งหากพิจารณาร่างกฎหมายกัญชา กัญชงในวันนี้(1ก.พ.)ก็ยังไม่จบ เหลืออีกกว่า 70 มาตรา และยืนยันพรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมกันพิจารณาญัตติอย่างจำกัด
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า พอทราบว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จะมีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องนี้ ซึ่งตนเองก็มีความเป็นห่วงเยาวชนทั้ง 2 คนเช่นเดียวกัน จึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อมาชี้แจงในสภา แต่ตนเองมีเวลาเพียงครึ่งวัน เพราะมีภารกิจต่อที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงมีเวลาค่อนข้างจำกัด แต่ยังไม่ทันพูดจบ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นชี้แจงว่า เมื่อทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลต้องการหาทางออกเรื่องนี้ พรรคภูมิใจกว้างพอ แต่มีเงื่อนไขว่า ขอให้พรรคฝ่ายค้านร่วมเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างกฎหมายกัญชาฯด้วย ก่อนจะทิ้งท้ายว่านี่ถือว่าเป็นสัจจะลูกผู้ชาย
จากนั้น นายจุลพันธ์ จึงรับปากจะอยู่เป็นองค์ประชุมจนกระทั่งปิดการประชุม และยืนยันจะรักษาเวลาในการพิจารณาที่ได้ใน 2 ชั่วโมง
เมื่อเข้าสู่การพิจารณาญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาฯ ได้อภิปรายโดยการคาดการณ์ว่าจะมีการยุบสภาฯในวันที่ 15 มีนาคมนี้ แต่เป็นห่วงว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง หากปล่อยให้เหตุการณ์บานปลาย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า มีใครต้องการให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น โดยไม่ทำอะไร ซึ่งถือว่าเป็นความอำมหิตในการใช้ชีวิตของเยาวชนในการสืบทอดอำนาจ เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงต้องสืบหากว่าเป็นใคร สมควรอยู่ในประเทศนี้หรือไม่ แต่ก็หวังว่าเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออก และแนวทางป้องกัน พร้อมฝากไปถึงนายสมศักดิ์ว่า การที่เยาวชนทั้ง 2 คนเรียกร้องขอออกไปรักษาตัวในโรงพยาบาลที่มั่นใจ เพราะโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ทำให้ผู้ต้องขังมั่นใจว่าจะสามารถรักษาชีวิตได้หรือไม่ และแม้ว่าจะเป็นเจตนารมณ์ของเยาวชนทั้ง 2 ที่จะอดอาหารและน้ำ แต่หากเห็นว่าเสี่ยงต่อชีวิต แพทย์และรัฐมนตรีฯต้องตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวในการช่วยเหลือเพื่อรักษาชีวิต พร้อมหวังว่ารัฐบาลจะรับฟังข้อเสนอของสภาฯในวันนี้ เพื่อรักษาชีวิตและทำตามข้อเสนอที่พอเป็นไปได้ของเด็กทั้ง 2
ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ แต่การส่งตัวทั้ง 2 คนไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เนื่องเห็นว่าในทางการแพทย์ ถ้าอดอาหารถึง 14 วันจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ย้ำว่า พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา โดยได้พูดคุยกับหลายฝ่าย ซึ่งช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้หารือกับกรรมการสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย เพื่อร่วมกันทำงานในกรอบที่กระทรวงสามารถทำได้โดยเร็ว และมีข้อสรุปออกมา 4 ประเด็น คือ 1. ปฏิรูปในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้สอดคล้องกับหลักในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ คือให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดในสคดีอาญา และ การจับกุมหรือคุมขัง ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น 2.พิจารณาทบทวนระเบียบปฏิบัติที่ใช้บังคับผู้ต้องขังในคดีความแตกต่างทางความคิด 3.ให้การสนับสนุนหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาผ่านกองทุนยุติธรรม 4. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะให้การสนับสนุนในการทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรีรัฐ สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและส.ส.บัญชีรายชื่อ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาปัญหาสิทธิในการประกันตัว ของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ในฐานความผิดจากการแสดงออกทางการเมือง เพื่อส่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ และความยุติธรรม อีกทั้งยังเห็นว่าในสังคมปัจจุบันมีความเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้นมากมาย แต่ 3เสาหลัก ใช้อำนาจผ่านฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ กลับใช้ความรุนแรงทางกายภาพและความรุนแรงทางกฎหมายปราบคนที่มีความเห็นต่าง จึงเสนอบันได3ขั้นในการหาทางออกว่า 1.ควรคืนสิ่งที่ควรจะมีตั้งแต่แรกคือสิทธิการประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ตัดสินอย่างมีบรรทัดฐานและมีสารภาพโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารคนใด 2.ขอให้นิรโทษกรรมผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองและนักโทษคดีทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นมาตรา 112 มาตรา116 ซึ่งจะเป็นการเซ็ต Zero และปล่อยให้ประเทศไทยเดินไปสู่อนาคต และ3เมื่อชำระเรื่องในอดีตไปแล้ว ต้องป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในอนาคต จึงเชื่อว่าหากทำตามข้อเสนอเหล่านี้แบมและตะวันก็มีโอกาสที่จะมีชีวิตต่อไป
ทั้งนี้การอภิปราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน เห็นด้วยเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของศาล ที่เห็นว่าควรมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ถูกดำเนินคดีมากขึ้น
ในที่สุดที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบให้รับญัตติดังกล่าวส่งไปให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป .-สำนักข่าวไทย.